ไฟลท์ที่ไม่มีใครอยากทำ

าชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินนี่ จะว่า เป็นงานที่ง่ายก็ง่าย หรือจะว่างานยากก็ยากครับ บางทีเลือกไม่ได้ เพราะต้องไปบิน “ไฟลท์ที่ไม่มีใครอยากทำ” อ้าว! มีด้วยเหรอนี่?

ถ้ามองจากมุมมองของผู้โดยสารก็ถูกต้องครับ ว่า “งานนี้ไม่ต้องทำอะไรมาก เครื่องขึ้น เสิร์ฟ เครื่องลง ไปโรงแรม นอน ช๊อปปิ้ง เที่ยว ทานอาหารดีๆ หรู วันต่อมาทำไฟลท์กลับมานอนบ้าน หยุดสองสามวัน แล้วก็เริ่มวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนหมดตารางบินของเดือนนั้นๆ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางอย่างเลือกไม่ได้หรอกครับ โดยเฉพาะในสายการบินใหญ่ที่มีไฟลท์ผสมปนเปกันไป ทั้งไปยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกา อินเดียและแอฟริกาครับ ดังนั้น ไฟลท์ที่เราบินไป เมืองที่เราบินไป บางทีก็มีความเสี่ยง และความไม่น่าอภิรมย์ในการทำไฟลท์เช่นกันครับ

1. ระยะเวลาบิน บางไฟลท์ที่เรา ต้องเดินทางข้ามทวีปไกลๆ แบบ Ultra-long haul ไฟลท์ เช่น จากดูไบไปสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกาใต้ ใช้เวลาบินราวๆ 12 ชั่วโมงขึ้นไป นับเป็นความทรมานอย่างหนึ่งของลูกเรือครับ ตามหลักการแล้วเราจะมีเวลาให้พักผ่อนบนเครื่องบิน เริ่มตั้งแต่สี่สิบห้านาทีไปจนถึงสามชั่วโมง ตามแต่ระยะเวลาทำการบินจริง ซึ่งสำหรับลูกเรือบางคนแล้ว ไม่ชอบทำไฟลท์ยาวๆ แบบนี้ครับ เพราะบางทีเวลาพักอาจจะมีน้อยกว่าความเป็นจริง รวมถึงบางคนมีอาการนอนไม่หลับบนเครื่อง เพราะในบริเวณที่พักของลูกเรือ (ห้องแคปซูล) อากาศจะแห้งกว่าปกติ ไม่ทราบว่า ทำไม? เหมือนกันนะครับ ทำให้ไม่ได้พักตลอดทั้งไฟลท์ก็เกิดอาการเหนื่อยล้าตามมาได้


นี่ก็บินไป รีโอเดจาเนโร บราซิล

บางไฟลท์สั้นมาก อย่างเวลาบินจริง 40 นาที แต่ต้องให้บริการอาหารแบบถาดในชั้นประหยัด พร้อมชากาแฟ พร้อมโหลดผู้โดยสารเต็ม ก็ต้องลองคิดถึงความวุ่นวาย และความเร่งรีบที่จะเกิดขึ้นบนไฟลท์ครับ จนเป็นที่มาของคำศัพท์ลูกเรืออย่าง “เซิ้ง” คือเสิร์ฟแบบมือเป็นระวิงไม่ได้หยุด การทำไฟลท์แบบนี้ บางทีมีความเครียดพอสมควรนะครับ เพราะในขณะที่เรากำลังให้บริการอยู่นั้น เครื่องก็ใกล้จะถึงที่หมายแล้ว ถาดก็ยังไม่ได้เก็บ หลังจากนั้นยังต้องมาเตรียมผู้โดยสาร และเคบินให้พร้อมสำหรับการนำเครื่องลงอีก เรียกว่างานนี้ต้องวางแผนเรื่องเวลาอย่างดี จนบางทีเราต้องขอเก็บถาดจากผู้โดยสาร ในขณะที่ท่านๆ กำลังทานแซนด์วิชไปไม่ถึงครึ่งเลยก็มีครับ ลูกเรือก็จะพบกับปัญหาในการรีบก้มเก็บถาด งอหลัง แล้วก็ปวดหลังได้ครับ

2. มหกรรมกระเป๋าและถุงดิวตี้ฟรี ไฟลท์ที่ขึ้นชื่อมากๆ เรื่องกระเป๋าจำนวนมหาศาล ก็ได้แก่ไฟลท์ไปยังอินเดีย และปากีสถานครับ เนื่องจากผู้โดยสารส่วนมาก เดินทางต่อเครื่องมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งในเส้นทางนี้เราให้น้ำหนักกระเป๋ามากเป็นพิเศษ มากกว่าเที่ยวบินอื่น ดังนั้นเมื่อมาต่อเครื่อง ไปยังเมืองปลายทางในอินเดีย ลูกเรือก็จะต้องเตรียมรับมือกับ กระเป๋าเดินทางขนาดเท่าตู้เย็น น้ำหนักสิบกิโลกรัมขึ้นไป ท่านละหนึ่งใบ ครอบครัวสี่ท่าน รวมสี่ใบเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะต้องนำไปเก็บในช่องเก็บของด้านบน ซึ่งเครื่องบางรุ่นมีที่เก็บของขนาดเล็ก เมื่อผนวกรวมกับปริมาณถุงสินค้าดิวตี้ฟรี ที่ท่านผู้โดยสารอุดหนุนมาจากในสนามบินแล้ว ก็เรียกว่า เต็มทุกตารางนิ้ว

ลูกเรือก็ต้องจัดที่วางของ บริหารช่องเก็บของดีๆ ครับ เพื่อให้ท่านผู้โดยสารทุกท่าน ได้มีที่วางของเพียงพอ ไม่ต้องเกิดเหตุการณ์ “ออฟโห(ล)ด” กระเป๋าแบบโหดๆ ซึ่งอาจจะชะลอเวลาการออกเดินทางไปได้หลายนาทีนะครับ รวมถึงเกิดอาการดราม่า ทั้งลูกเรือและผู้โดยสาร ที่ยืนยันว่า จะต้องเอากระเป๋าไว้ใกล้ตัวให้มากที่สุด แต่เนื่องจากไม่มีที่สำหรับวางแล้ว ก็จำเป็นต้องออฟโหลดลงไปเก็บไว้ที่ใต้ท้องเครื่องบินครับ และปัญหาที่ตามมาคือ การปิดช่องเก็บของเหนือศรีษะครับ เครื่องบางรุ่น ช่องเก็บของจะต้องใช้ระบบผลักขึ้นไปปิด ซึ่งเมื่อเต็มแล้วน้ำหนักรวมน่าจะสามสิบกิโลกรัมได้ ก็อาจส่งผลให้ลูกเรือ มีปัญหาปวดหลังในระยะยาวได้ครับ รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บด้วยนะครับ

3. เครื่องเก่า ปัญหาเยอะ ผ้าห่มไม่พอ อาหารพิเศษ ปัญหาเครื่องบินรุ่นเก่า นี่นำความปวดหัวมาให้ลูกเรือทุกไฟลท์เลยครับ นับตั้งแต่ช่องเก็บของไม่พอ อุปกรณ์ครัวเก่าบ้าง เสียบ้าง ปัญหาเรื่องที่นั่งรุ่นคุณทวด ที่แข็ง แล้วก็ยังมีระบบถุงลมเสีย ไม่สามารถปรับลงได้ ก็ทำให้ผู้โดยสารนั่งไม่สบายตลอดการเดินทาง เราก็พยายามจะเปลี่ยนที่นั่งให้ แต่ถ้าไฟลท์เต็ม ก็สุดวิสัยที่เราจะทำได้ครับ นอกจากเสนอหมอนกับผ้าห่มให้เพิ่ม

อะไรที่แก้ได้ ซ่อมได้ ตามที่เรารู้ก็ทำกันไป แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนครับ เรื่องระบบความบันเทิง นี่ก็เป็นอีกอย่างนึงที่ปวดหัวมากๆ เช่นกันครับ ด้วยความที่ผู้โดยสารมีความคาดหวังสูง กับระบบความบันเทิงของเรา อาจจะบินมาไฟลท์แรกได้เครื่องใหม่ ระบบดีเยี่ยม พอไฟลท์ต่อมาได้บินเครื่องเก่า ระบบรุ่นแรกที่บริษัทมี ก็จะเกิดการเปรียบเทียบ แล้วก็เกิดอาการงง ว่าจะใช้จอรุ่นนี้ยังไง แล้วก็มีดราม่าตามมาตามปกติครับ เพราะว่าพอจอเก่า ผ่านการใช้งานมานาน บางทีก็ติดๆ ดับๆ ภาพไม่คมชัดบ้าง หรือบางทีก็เสียขึ้นมาซะดื้อๆ พยายามรีเซทแล้ว ก็ไม่ได้ผล อย่างน้อยยังดีครับ ว่าบริษัทมีแผนที่จะปลดระวางเครื่องรุ่นนี้ในอนาคตอันใกล้ครับ

4. โรคระบาด เมืองอันตราย อย่าเพิ่งคิดไปไกลครับว่า เราจะได้บินไปแต่เมืองสวยๆ ดีๆ แบบในละครเท่านั้น เพราะเรายังมีจุดหมายปลายทางการบินในทวีปแอฟริกา และบางเมืองในอินเดีย ที่เราจะต้องไปค้างคืนที่นั่นครับ ซึ่งในบางครั้งเมืองที่เราบินไปก็มีความเสี่ยงต่อทั้งสุขภาพ และความปลอดภัยของตัวเราเองก็มีนะครับ แม้บางทีทางสายการบินจะให้ความรับรองความปลอดภัย และออกมาตรการต่างๆ ที่มีมาตรฐานตามความจำเป็นแล้วก็ตาม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะกังวลกับสิ่งที่เราไม่อาจคาดเดาได้อย่าง

โรคมาลาเรีย บางประเทศในแอฟริกา ยังเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงของการระบาดของมาลาเรีย ดังนั้น เราก็ต้องป้องกันไว้ก่อนครับ อย่างเราสามารถไปขอรับยามาจากบริษัท เตรียมเสื้อผ้าแขนขายาว และโลชั่นกันยุง แต่ทั้งหมดทั้งมวล ลูกเรือก็ต้องคอยระมัดระวัง ในเวลาที่ต้องออกไปข้างนอก เป็นต้นครับ รวมไปถึงการระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ไม่เช่นนั้น เราก็อาจจะพบกับอาการอาหารเป็นพิษ ทำให้ต้องหยุดอยู่เมืองนั้นๆ ไปอีกหนึ่งวันหรือสองวัน เพื่อให้คุณหมอรับรองอาการว่า เราสามารถบินกลับไปทำงานได้ตามปกตินะครับ

ส่วนเรื่อง สวัสดิภาพความปลอดภัย บางเมืองก็น่ากลัวมากจริงๆ ครับ จนถึงขนาดทางบริษัทแนะนำให้ลูกเรือ พักอยู่แต่ในโรงแรมเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย การนั่งรถมาจากสนามบินห้ามเปิดม่านหน้าต่าง เพื่อไม่ให้เป็นจุดสนใจ หรือแม้แต่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เดินทางไปกับเราในเที่ยวบินนั้นด้วยครับ เรื่องความปลอดภัยนี่ยังรวมถึง มาตรฐานของสนามบินด้วยนะครับ บางแห่งสนามบินเก่ามาก ไม่น่าจะเรียกว่าสนามบินได้ด้วยซ้ำ แถมความสกปรกมาอีก ก็ต้องทำใจกันไปหล่ะครับ

5. เครื่องบินสองคลาส สายการบินของเรา เครื่องบินส่วนมาก ก็จะจัดที่นั่งแบบสามชั้นโดยสารครับ (First, Business, Economy) แต่พอถึงเวลาที่เป็นเครื่องบินสองชั้นโดยสาร ที่มีชั้นธุรกิจกับชั้นประหยัดแล้ว การทำงานก็จะถือว่ายากเพิ่มขึ้นพอตัวครับ เพราะว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มมากขึ้นประมาณสี่ร้อยท่าน เมื่อเทียบกับสัดส่วนของพนักงานที่ให้บริการบนเครื่อง ทำให้บางครั้งการบริการใช้เวลานาน นับตั้งแต่การเริ่มบอร์ดผู้โดยสารที่จะนานกว่าปกติ การให้บริการอาหารก็จะค่อนข้างยุ่งยาก ประกอบกับความยาวของห้องโดยสารที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกเรือต้องเดินไกลมากขึ้นครับ

6. ผู้โดยสารที่รัก (และห้องน้ำ) สำหรับบางไฟลท์ ก็เป็นที่ร่ำลือกันมาก ถึงความวุ่นวายของท่านผู้โดยสารครับ อย่างบางไฟลท์ผู้โดยสารรักการดื่มมากๆ มากซะจนทำให้พนักงานอย่างเราไม่ได้หยุดให้บริการ จนถึงขั้นที่เรียกว่า “ดื่มจนหมดทั้งบาร์” ซึ่งบางครั้งก็ตามมาด้วยอาการมึนเมา ส่งเสียงดังรบกวนผู้โดยสารท่านอื่น บางไฟลท์ผู้โดยสารส่วนมากเป็นแรงงาน พึ่งเคยนั่งเครื่องบินเป็นครั้งแรก ก็มักจะไม่ค่อยทราบวิธีการใช้ห้องน้ำที่ถูกต้องว่า กดตรงไหน ทิ้งขยะตรงไหน จนเมื่อจบไฟลท์ ห้องน้ำก็กลายเป็นห้องขยะไปได้ครับ หรือบางไฟลท์ผู้โดยสารไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ก็ทำให้เกิดความลำบากในการสื่อสารระหว่างลูกเรือ และท่านผู้โดยสารครับ

7. โรงแรมผีหลอก เรื่องโรงแรมผีสิงกับลูกเรือ นี่เป็นของคู่กันครับ บางครั้งก็เลือกไม่ได้ ก็ต้องไปบินไฟลท์ที่มีเรื่องเล่าน่ากลัว แตกต่างกันไป อาจจะด้วยเพราะสภาพของโรงแรม และสถานที่ต้ังก็เป็นได้ครับ อย่างบางที่เก่ามาก บวกกับการตกแต่งสไตล์หลอนๆ ตั้งอยู่ริมบึงขนาดใหญ่ มีต้นไม้ขึ้นสูงทึบ จึงไม่แปลกที่จะมีเรื่องเล่ามาชวนให้ขนหัวลุก ตั้งแต่อยู่บนเครื่อง คนไม่กลัวผีก็สนุกสิครับ แต่คนกลัวผีอย่างเราๆ บางทีนอนไม่ได้ ต้องเปิดไฟ เปิดทีวีนอนทั้งคืนแบบนั้น หลับๆ ตื่นๆ ก็มีครับ ทำได้ก็พึ่งพระพึ่งเจ้ามาช่วยคุ้มครองครับ พูดถึงเรื่องโรงแรม ก็บางทีเรื่องความสะอาดก็ยังไม่ดีพอครับ บางที่รีบทำความสะอาดไป เพื่อให้ทันเวลาที่เราเช็คอิน ก็ยังไม่สะอาด หรือบางทีโรงแรมเก่ามาก จนแอร์ในห้องบางทีไม่ทำงาน ก็ต้องแก้ปัญหากันไปครับ รวมถึงบางเมืองที่เราบินไป บริษัทก็บังเอิญจัดให้เราไปอยู่โรงแรมใกล้ๆ สนามบิน ซึ่งการเดินทางเข้าเมืองไปเที่ยวก็ลำบากมากพอควร ทั้งเรื่องเวลาแล้วก็ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าเมืองครับ

8. เวลาบินของเที่ยวบิน เนื่องจากการเดินทางทางอากาศ หลักการหนึ่งที่สายการบินยึดถือคือ ยิ่งเครื่องจอดบนพื้นนานเท่าไหร่ ยิ่งเสียโอกาสทำรายได้มากเท่านั้น ดังนั้นการปฏิบัติการบิน จึงทำตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงครับ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่เราจะเห็นเครื่องบินออกและเข้า ตลอดเวลาทั้งเช้ามืดหรือกลางดึก ทำให้ลูกเรือก็จะต้องออกไปทำงานในช่วงเวลาที่แปลกๆ พิสดาร อย่างออกเดินทางตีสอง ซึ่งจริงๆ ควรจะเป็นเวลานอน แต่ก็ต้องตื่นออกมายิ้มรับผู้โดยสาร หรือบางไฟลท์เป็นไฟลท์ที่เรียกว่า Early morning flight ตลอดเวลา คือ ออกเช้ามืด ไปถึงที่หมายกลางดึก พักหนึ่งวัน ออกเช้ามืด กลับมาถึงปลายทางกลางดึก แบบนี้ก็ทำให้ Body clock ปั่นป่วนได้มากเลยครับ (อาการสลึมสลือจากการหลงเวลา)

แม้ว่าทางบริษัทจะอนุญาตให้ลูกเรือสามารถสลับ หรือแลกตารางบินกัน เพื่อไปบินไฟลท์อื่นแทนได้ แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้การแลกไฟลท์บินนั้นไม่สามารถทำได้ (ก็ชื่อไฟลท์นี้ลูกเรือทุกคนล้วนเข้าใจอยู่แล้วนี่) ดังนั้น บางทีเราเลือกไม่ได้ครับ ต้องไปบิน “ไฟลท์ที่ไม่มีใครอยากทำ”

Loading

About Post Author

2 thoughts on “No ONE wants to DO that.

  1. สวัสดีครับพี่ปอ ผมสนใจสมัครเป็นลูกเรือสายการบินเอมิเรตส์ ผมยื่นใบสมัคร ประวัติส่วนตัว พร้อมรูปถ่าย ทางออนไลน์เว็บไซด์ของสายการบินเอมิเรตส์ ตอนนี้ระบบขึ้นว่าอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ผมอยากรบกวนขอคำแนะนำจากพี่ครับ

    1. เตรียมตัวด้านร่างกาย สุขภาพให้พร้อมครับ ฟิตแอนด์เฟิร์ม เรื่องวัคซีนต่างๆ ให้ครบได้ก่อนก็ดี ตรวจทำฟันให้ดีสะอาด ไม่มีฟันคุด ฟันเกครับ (ไม่ใส่เหล็กดัดฟันนะ) และก็ลองตอบคำถามต่างๆ ที่คาดว่าจะเจอในการสอบสัมภาษณ์ มีให้อ่านในเว็บนี้แหละ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)