Qantas Airways’ 19 Hours Flight Tests Passenger Limits

เคยเล่าเรื่องสายการบินระยะไกลที่ไม่แวะพักระหว่างทาง ไปเมื่อปีที่แล้ว สายการบินล่าสุดที่เปิดเส้นทางแบบ Ultra Long Haul Flight คือ Singapore Airlines เป็นเส้นทางบินจากสนามบิน Shangi ในสิงคโปร์ ไปยังสนามบิน Newark Liberty ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ใช้เวลาบิน 17 ชั่วโมง มาวันนี้จะมีผู้จะทำลายสถิติแล้วด้วยการบินไกลด้วยระยะเวลากว่า 19 ชั่วโมง

จากรายงานข่าวของ CNN เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า Qantas สายการบินของออสเตรเลียจะทดลองทำการบินเชื่อมระหว่าง 3 เมืองชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย (ซิดนีย์, บริสเบน และเมลเบิร์น) กับกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หรือนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายปีนี้ ในชื่อ “Project Sunrise” ก่อนที่จะเปิดบริการเชิงพาณิชย์จริงในปี 2566

ถ้าถามว่า “บินไกลขนาดนั้น เครื่องบินจะไหวเหรอ กลัวมีปัญหาน้ำมันหมดระหว่างทาง” สำหรับเทคโนโลยีของเครื่องบินนั้น ปัจจุบันมีความพร้อมที่จะทำการบินในเส้นทางระยะไกลขนาดนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าย Airbus และ Boeing ซึ่งต่างก็มีเครื่องบินแบบพิเศษมาแข่งขันกัน ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่มีความประหยัดน้ำมันมากขึ้น ระบบปรับความดันอากาศในห้องโดยสารที่ทันสมัย สามารถปรับความดันในห้องโดยสารได้ดียิ่งขึ้น อันเป็นผลมาจากความแข็งแรงของลำตัวเครื่องบิน ที่ปัจจุบันเป็นคาร์บอนไฟเบอร์มากกว่า 70 เปอร์เซนต์ นอกจากจะแข็งแรงทนทานแล้ว ยังมีน้ำหนักเบาจึงทำให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น

ติดอยู่ที่ว่า “พัฒนาการมนุษย์นั้นแหล่ะครับที่เป็นปัญหา” เพราะมนุษย์ไม่เคยที่จะเดินทางในอากาศเป็นระยะเวลานานขนาดนี้มาก่อน ประกอบกับปัญหาหลักคือ มนุษย์นั้นจะต้องอาศัยอยู่ในห้องโดยสารที่มีความหนาแน่นของอากาศเท่ากับความสูง 6,000 – 8,000 ฟุต ด้วยความชื้นที่ต่ำมาก ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนล้าได้ง่ายขึ้นนั่นเอง การนั่งนานๆ (แม้จะสามารถลุกเดินไปห้องน้ำ ห้องท่า ยืดเส้นยืดสายได้ก็เถอะ) ขาและเท้าก็คงบวม เป็นตะคริวได้แน่ๆ ไม่เฉพาะผู้โดยสารนะที่ลำบาก ลูกเรือและนักบินก็คงอ่อนล้าไม่แพ้กัน คงต้องมีจำนวนลูกเรือเพิ่มจาก 2 เป็น 3 เท่า (ของเที่ยวบินปกติ) โน่นแหละถึงจะให้บริการได้โดยไม่ทรมานมากนัก

แล้วทำไม? สายการบินถึงต้องมีแผนดำเนินงานเที่ยวบินระยะไกล Bjorn Fehrm นักวิเคราะห์การบินและเศรษฐกิจของ Leeham News ได้อธิบายถึงเที่ยวบินระยะไกลพิเศษนี้ เมื่อเทียบกับการเดินทางแบบแยกสองส่วนที่หยุดแวะพักระหว่างทางในดูไบ หรือสิงคโปร์ กับแบบไม่แวะนี้ จะทำให้ไม่มีการเดินทางพิเศษผ่านด่านศุลกากร (หลายครั้ง) และไม่มีความเครียดจากการถ่ายโอนต่อเครื่องบิน รอเสียเวลา 1-3 ชั่วโมง เขาชี้ให้เห็น “คุณสามารถวางแผนได้เพื่อให้คุณบินชั่วข้ามคืน และคุณสามารถมาถึงปลายทางได้ ในวันที่ดีที่สุดของการเริ่มทำงานในวันถัดไปเช่นกัน” เฟร์มกล่าว “มันจะเป็นเรื่องดีที่นักธุรกิจจะเลือกใช้บริการเดินทางด้วยวิธีนี้”

หากใช้บริการเที่ยวบินที่ใช้เวลายาวนานกว่า 19 ชั่วโมงกลายเป็นความจริง ผู้เดินทางจะเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการบินที่ต้องแวะพักระหว่างทาง (ซึ่งปกติก็เป็นแบบนี้ ใครเคยไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วหาซื้อตั๋วราคาถูก จะพบว่า บินตรงกรุงเทพฯ – โตเกียว จะแพงกว่า กรุงเทพฯ – ฮ่องกง – โตเกียว) แต่สำหรับนักธุริกจบางคนก็พร้อมที่จะจ่ายราคาพิเศษสำหรับตั๋วเที่ยวบินแบบนี้ และแน่นอน มันจะไม่มีที่นั่งชั้นประหยัดแบบธรรมดาๆ ที่อึดอัด แคบๆ ปรับเอนได้นิดหน่อยตามเที่ยวบินระยะสั้นปรกติ แต่จะมีชั้น Premium Economy ที่กว้างขวางนั่งสบาย ปรับนอนราบได้มาแทน (ราคาก็ย่อมแพงขึ้นด้วย) รวมทั้งมีชั้น Business และ First Class เท่านั้น เพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการบินแต่ละเที่ยวบิน

Qantas จะใช้เครื่องบินแบบ Boeing 787-9 Dreamliners ซึ่งจะได้รับมอบใหม่จำนวน 3 ลำ จะเริ่มบินจากโรงงานของ Boeing ในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ไปยังลอนดอนหนึ่งลำ และไปที่นิวยอร์กจำนวนสองลำ เพื่อทำเที่ยวบินทดสอบ 2 เที่ยวบินจากนิวยอร์กไปยังซิดนีย์และบริสเบน และอีกหนึ่งเที่ยวจากลอนดอนไปยังเมลเบิร์น โดยใช้ชื่อโครงการนี้ว่า “Project Sunrise” บริษัทมีแนวคิดก็คือ “รวบรวมข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผู้โดยสารบนเครื่องบิน และสุขภาพของลูกเรือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี” โดยมีผู้โดยสารประมาณ 40 คน ซึ่งเป็นพนักงานที่เป็นอาสาสมัครทดลองในครั้งนี้จากทางสายการบินเอง

Qantas Captain Lisa Norman poses in front of a Boeing Dreamliner aircraft model after helping to announce the Australian airline’s plans to conduct three research flights between the US and UK to Australia on August 22

ในการทดลองที่จะเริ่มในปลายปีนี้ ได้รับความร่วมมือจากทีมนักวิจัย Charles Perkins Centre ของ Sydney University กับ Monash University และ Alertness Safety and Productivity Cooperative Research Centre  ซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย จะทำการตรวจสอบผลกระทบของการบินระยะยาวต่อผู้โดยสารและลูกเรือ

ซึ่งผู้โดยสารในห้องโดยสารหลักจะสวมอุปกรณ์ตรวจสอบ เก็บข้อมูล เพื่อทีมนักวิจัยจะได้ศึกษา “สุขภาพ คุณภาพชีวิต และนาฬิการ่างกาย” ของผู้โดยสารได้รับผลกระทบจากชุดของตัวแปรต่างๆ อย่างไร ทั้งที่เป็นสีแสง (ความสว่าง/มืด) อาหาร และเครื่องดื่ม การเคลื่อนไหวร่างกาย รูปแบบการนอนหลับ และสื่อบันเทิงบนเครื่องบิน

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Monash จะเน้นไปที่ลูกเรือในเที่ยวบิน ด้วยการบันทึกระดับ “เมลาโทนิน” ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการบิน รวมถึงการศึกษาข้อมูลคลื่นสมองจากอุปกรณ์อิเล็คโทรโฟโตแกรม ข้อมูลนี้จะถูกแบ่งปันให้กับหน่วยงานด้านความปลอดภัยขององค์การบินพลเรือน “เพื่อช่วยแจ้งข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง กับเที่ยวบินระยะไกลพิเศษ”

หากย้อนกลับไปในอดีต การเดินทางทางอากาศจะต้องมีการแวะลงจอด เพื่อเติมน้ำมันตามเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในเส้นทาง Kangaroo route ที่เป็นการบินเชื่อมระหว่างออสเตรเลียกับอังกฤษ เหมือนในภาพประกอบด้านบน จนมาถึงปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้ทำให้เราสามารถบินตรงได้ โดยไม่หยุดพักระหว่างออสเตรเลียและอังกฤษอีกแล้ว


คลิปเที่ยวบินพิเศษจากลอนดอน-ซิดนีย์ โดย Sam Chui ยูทูปเบอร์ด้านการบินชื่อดัง

ผลกระทบของเที่ยวบินที่ใช้เวลายาวนานเหล่านี้ ที่มีต่อมนุษย์นั้นได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดีว่า ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำสามารถเกิดขึ้นได้ในระดับสูง แม้ว่าผลกระทบอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้โดยสาร การขาดออกซิเจนอาจส่งผลต่อความจำ หรือทำให้เกิดความเหนื่อยล้าได้ การวิจัยโครงการ Sunrise จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เกี่ยวกับระยะทางและระยะเวลาในการบิน ร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ข้ามเขตเวลาหลายๆ ช่วงเวลาในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น นี่จึงเป็นการพยายามศึกษาว่า มีความเป็นไปได้เพียงใด สำหรับผลการทดสอบจะเป็นดัชนีที่บอกว่า Qantas ควรจะทำการบินแบบนี้ไหม?

หากผลการทดลองและงานวิจัยได้ผลดี จนเป็นที่ยอมรับทั้งจาก ICAO และสายการบินต่างๆ Qantas ได้วางแผนการบินระยะไกลแบบนี้ไว้หลายเส้นทาง ให้สมกับที่เป็นบริษัทที่บุกเบิกเส้นทางการบินระยะไกลมาก่อนใคร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 เป็นเที่ยวบินที่ชื่อ “The Double Sunrise” (น่าจะหมายถึงเที่ยวบินที่พบตะวันขึ้นสองครั้ง ในการบินเที่ยวเดียว) ด้วยเที่ยวบินระยะทาง 5,650 กิโลเมตร จากเมืองเพิร์ธ ในออสเตรเลีย ไปยัง ศรีลังกา ใช้เวลาบิน 28 ชั่วโมง (สูงสุด 33 ชั่วโมง กรณีบินต้านลม) โดยใช้เครื่องบินแบบ Consolidated PBY Catalina ดังภาพล่างนี้

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)