สัปดาห์แรกของการเรียนรู้

23.00 / May 28,2010 from DBX

ในที่สุดก็ได้ฤกษ์เขียนบล็อกซะทีนะครับ…

เข้ารับการฝึกที่โรงเรียนการบินของบริษัทผ่านไปหนึ่งอาทิตย์แล้ว สำหรับการเทรนนิ่งที่แสนเข้มข้น และ หนึ่งอาทิตย์สำหรับ Induction Week ของสายการบินของเราแล้วนะครับ

สำหรับ Induction Week ก็ใช้เวลาทั้งหมดหนึ่งอาทิตย์ครับ ในช่วงเวลานี้ จะเป็นเวลาที่ต้องส่งเอกสาร ตรวจร่างกาย เรียนรู้ความเป็นมา วิสัยทัศน์ของบริษัท แล้วก็หน่วยงานต่างๆ ในองค์กรครับ รายละเอียดเดี๋ยวมาเล่าทีหลังดีกว่า

เข้าเรื่องเลย สำหรับการเทรนนิ่งในสัปดาห์แรกที่เพิ่งผ่านไปนี้ ก็เป็นการเทรนนิ่งเรื่อง SEP หรือ Safety and Emergency Procedures ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักของการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเลยก็ว่าได้ครับ

ลองคิดดูว่า ถ้าเกิดไฟไหม้ ใครจะดับไฟ? ถ้าเกิดเครื่องตกหลุมอากาศ ใครจะช่วยเหลือคุณ? ถ้าเครื่องต้องลงฉุกเฉิน ใครจะพาคุณออกจากเครื่องบิน?

คำตอบคือ พนักงานต้อนรับ อย่างเราๆ นี่หล่ะครับ เพราะฉะนั้นอย่าดูถูกอาชีพนี้เลยครับ สายการบินมีตำแหน่งนี้ขึ้น ก็เพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคนครับ

พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ที่นี่จะเรียกว่า Ab-Initio ในแต่ละรุ่นก็จะแบ่งเป็น Batch แต่ละ Batch ก็จะมีประมาณ 13-15 คนครับ อย่างในรุ่นนี้ ก็มีทั้งหมด 6 Batch รวมๆ ประมาณ 90 คน แต่ละคนก็มาจากแต่ละประเทศ อย่างใน AB-1536 (เลข Batch ที่อยู่) มีทั้งหมด 13 คน มาจาก 13 ประเทศคือ ไทย อเมริกา โปแลนด์ โปรตุเกส เชค อินเดีย ออสเตรเลีย สวีเดน ฝรั่งเศส แคนาดา เบลเยี่ยม ลิทัวเนีย และโครเอเชียครับ

นี่เป็นแค่ 13 สัญชาติ จากทั้งหมด 129 สัญชาติของลูกเรือที่นี่ครับ ดังนั้น ทุกคนก็เลยต้องปรับตัวกันขนานใหญ่เลย ไหนจะไม่ได้พูดภาษาแม่ของตัวเอง ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางกันตลอดแล้ว วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ยังต่างกันมากอีกด้วยครับ แต่พวกเราก็สามัคคีกันดี มีอะไรก็ต้องช่วยเหลือกันตลอด ไม่งั้นพาผู้โดยสารไปไม่รอดแน่ครับ

A380 Economy Class

เครื่องบินที่ให้บริการจะเป็นขนาดใหญ่มีทางเดินคู่ตามภาพนี้

ในแต่ละ Batch ก็จะเริ่มเรียนเครื่องบินแตกต่างกันไปครับ ในบริษัทเรามีเครื่องบินอยู่ไม่กี่รุ่น แต่ว่าเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ที่มีทางเดินคู่ภายในเครื่องบินหรือ Double Aisle (เป็นหนึ่งในไม่กี่สายการบินที่ Operate เครื่องบิน Double Aisle ทั้งฝูงบิน (Fleet)) แบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ AIRBUS, BOEING สองกลุ่มนี้เรียกว่า Main Fleet และอีกกลุ่มล่าสุดคือ A380 (เครื่องขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทแอร์บัส ณ ขณะนี้) ที่แบ่งแบบนี้ เพราะว่าเครื่องบินแต่ละบริษัทก็มีรายละเอียดต่างๆ กันไป แต่ทั้งหมดก็เรียนเรื่องเดียวกันครับ คือ ขั้นตอนความปลอดภัย ต่างกันที่รายละเอียดเฉพาะแบบเครื่องบินเท่านั้นครับ

เรียนรู้ความปลอดภัยในเครื่อง เช่น การเปิดประตูทางออกฉุกเฉิน

เริ่มต้นการเทรนนิ่ง ด้วยการเรียนเปิดและปิดประตู… อาจจะดูเหมือนง่าย (กะอีแค่เปิดปิดประตูก็เรียนหรือนี่?) แต่เรามีขั้นตอนในการเปิดประตู ที่ค่อนข้างจะซับซ้อนกว่าการเปิดประตูบ้านอยู่มากครับ หลังจากฝึกเปิดและปิดประตูกันแล้ว ก็ต้องมาฝึกการเปิดในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินครับ

เครื่องบินโดยสารทุกประตูจะมีสไลด์ติดตั้งอยู่ที่ฐานประตูนะครับ แต่ว่าจะมีขนาดและรูปแบบต่างกันไป นั่นคือ ทุกประตูสามารถใช้เป็นสไลด์และแพยาง (กรณีลงจอดบนผิวน้ำ) แต่บางประตูสามารถใช้เป็นสไลด์ได้ แต่เป็นแพยางไม่ได้ครับ ดังนั้น ขึ้นเครื่องครั้งต่อไป ลองสังเกตดูนะครับว่า…ประตูไหนกันน๊า… ที่เป็นแพยางไม่ได้ ใบ้ให้นิดหนึ่งว่า เป็นประตูที่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อนครับ

ประตูสไลด์ เป็นแพยางได้ด้วย กรณีลงฉุกเฉินในน้ำ

เปิดประตูได้แล้วก็ต้องพาผู้โดยสารออกไปจากเครื่อง เราก็ต้องเรียนวิธีพูด (ใจเย็นๆ) ขั้นตอนต่างๆ ในการอพยพ การประเมินสถานการณ์ การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน เราจะรอดออกจากเครื่องบินที่อยู่ในเหตุฉุกเฉินได้หรือไม่ ก็มาจากการตัดสินใจของเรานี่แหละครับ

จากนั้นเราก็ต้องมาเรียนเรื่อง “การลงจอดในกรณีฉุกเฉิน” สถานการณ์ก็มีต่างๆ กันไปครับ ทั้งเครื่องกำลัง Taxi อยู่ หรือเครื่องกำลังเร่งความเร็วเพื่อทะยานขึ้น แต่ต้องยกเลิกโดยฉับพลัน หรือ เครื่องทะยานไปแล้ว แต่ต้องกลับมาลงจอดที่สนามบินอีกครั้ง ก็จะมีขั้นตอนการปฏิบัติแตกต่างกันไป ซึ่งต้องจำให้ได้ครับ

เรื่องต่อมาที่ต้องเรียน คือ เรื่องอุบัติเหตุบนท้องฟ้า อย่าง Turbulance หรือ Decompression

Turbulance (ตกหลุมอากาศ) นี่เป็นอะไรที่อันตรายมากๆ ครับ มีลูกเรือหลายคนต้องออกจากงาน หรือได้รับบาดเจ็บสาหัสจนไม่สามารถกลับมาบินได้ อันเนื่องมาจาก Turbulance นี่ครับ การตกหลุมอากาศนั้น บางครั้งก็สามารถคาดเดาได้ก่อนจากเรดาร์เครื่องบิน หรือรายงานสภาพอากาศ แต่บางครั้งนักบินก็สังเกตไม่ได้ครับ เรียกว่า Clear air Turbulance ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงอยากให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดตลอดเวลาในการเดินทาง

ภาพความเสียหายจากการตกหลุมอากาศของสายการบินสิงคโปร์แอรไลน์

Decompression หรือการสูญเสียความดันอากาศในห้องโดยสาร อันนี้อันตรายมากครับ หลายคนคงเคยเห็นกันในภาพยนตร์มาแล้วว่า มีสภาพยังไง ทุกอย่างลอยเคว้ง อากาศถูกดูดออกจากเครื่องบิน ตัวเครื่องฉีกขาด ดังนั้นต้องมีสติ และรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ให้ได้ครับ เราก็จะได้เรียนเรื่องการใช้หน้ากากออกซิเจน ในเรื่องนี้ด้วยครับ

จากนั้นก็มาสู่เรื่องไฟไหม้กันบ้างครับ เรื่องไฟไหม้นี่เกิดขึ้นบ่อยมากบนเครื่องบิน โดยเฉพาะในห้องน้ำ เพราะผู้โดยสารชอบไปสูบบุหรี่กัน เราก็ต้องเตรียมตัวเป็นนักดับเพลิงชั่วคราว ดับไฟทั้งในห้องน้ำ ช่องเก็บของเหนือศรีษะ (กรณีแบตเตอรี่สำรองหรือ Power Bank) เตาอบในห้องครัว รวมถึงเบาะที่นั่งของทุกท่านด้วยครับ แน่นอนครับว่าอาจเกิดไฟไหม้ที่เบาะของผู้โดยสารได้ เนื่องจากทุกที่นั่งของผู้โดยสารติดตั้ง IFE หรือ In-Flight Entertainment System (ระบบบริการความบันเทิงสำหรับผู้โดยสาร) ดังนั้น โอกาสที่ไฟฟ้าลัดวงจรก็มีอยู่บ้างครับ

สุดท้ายก็มาสู่เรื่องการลงจอดบนผิวน้ำ อันนี้ต้องลงไปในสระน้ำจริงๆ รวมถึงวิธีการดำรงชีวิตหลังการอพยพออกจากเครื่องบินด้วยครับ

ทั้งหมดนี้เราฝึกกันที่ Aviation College ซึ่งมีเครื่องบินจำลองหรือ Simulator ที่เค้าว่ากันว่าเป็น State-of-Art ด้วยครับ ซึ่งก็จริงอย่างนั้น เพราะเครื่องนี้สามารถสร้างสถานการณ์ต่างๆ ได้เหมือนจริงมากกกกก… ประตูห้องน้ำ ยังสามารถทำให้ร้อนเหมือนมีไฟไหม้อยู่ข้างในได้!

นอกจากนี้ ยังได้ฝึกการสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินต่างๆ ด้วย ทั้งท่านั่งขณะลงจอดฉุกเฉินและเสื้อชูชีพ

อาทิตย์แรกนี้ผ่านไปไวมากครับ เราต้องเรียน ฝึกซ้อม และจำให้ได้เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน รวมถึงต้องสอบด้วยครับ

ครั้งหน้าก็จะเป็นอาทิตย์ที่สองของ SEP นะครับ แล้วเดี๋ยวมาดูว่าต้องเรียนอะไรบ้าง

เพราะ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ไม่ได้เป็นแค่คนรับใช้บนฟ้าเท่านั้น!!!

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)