foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

สวัสดีปีใหม่ 2546

ขอลาทีปีเก่า เพื่อต้อนรับศักราชใหม่ 2546 เป็นการล่วงหน้าครับ เพราะจะขอหยุดพักสักหลายๆ วันในช่วงหยุดยาวนี้ พักผ่อนตอนสิ้นปีครับ คงไม่ได้ไปไหนขออยู่พักที่บ้านนี่แหละครับ ขอให้ทุกท่านสุขีมีโชคดีรับปีใหม่ พ้นภัยเศรษฐกิจกันโดยถ้วนหน้าครับ มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคาพยาธิและอุบัติภัยทั้งหลายด้วยเทอญ...

คราวก่อนว่าจะส่งท้ายปีด้วยบทความเรื่อง การปฏิรูปการศึกษาเราเดินมาถูกทางกันหรือยัง? หรือเราจะเดินไปทางไหนดี? วันนี้อ่านหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2545 แล้วอดคันไม้คันมืออยากจะพูด (เขียน) อีกไม่ได้ครับ เพราะเรื่องที่ว่านี่มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่บ่นไปเมื่อคราวก่อนพอดีเลยเชียว ทำให้ต้องอัพเดทในวันนี้แหละครับ...

พาดหัวข่าวกรอบเล็กมุมซ้ายล่าง " 'แม้ว' มึนเอนทรานซ์สูตรเหมือน'แกงโฮะ' หนุนเลียนแบบมะกัน" นายกฯ สวนปลัดทบวงมหาวิทยาลัยกลางที่ประชุม "หลักสูตรใหม่ เด็กไทยพัฒนา : หัวใจของปฏิรูปการศึกษา" เอ็นทรานส์แบบใหม่ 'แอดมิสชั่นส์' เหมือนแกงโฮะ อยากได้ระบบเหมือนอเมริกา จี้ ศธ. เน้นสอนเลข-อังกฤษเข้มข้น ให้ลดค่านิยมฮิตสถาบันมีชื่อเสียง

แอดมิสชั่นส์ (Admissions) คือระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยจะนำมาใช้แทนระบบสอบเอนทรานซ์ปัจจุบัน ในปีการศึกษา 2549 เป็นต้นไป ซึ่งจะสอดรับกับการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ ที่จะเริ่มทยอยใช้จริงในปีการศึกษาหน้า (2546) ระบบเอนทรานซ์ใหม่เป็นอย่างไร? ท่านนายกฯ ถึงได้ระบุเป็นแกงโฮะ...

ระบบแอดมิสชั่นส์ นี้จะประกอบด้วยคะแนนเฉลี่ยสะสม ม.ปลาย (GPA/PR) รวมค่าน้ำหนักการพิจารณา 10% ผลสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติหรือ National Test ไม่ต่ำกว่า 20% คะแนนสอบวัดความถนัดทางการเรียนหรือ SAT และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน นำมารวมประกอบการพิจารณารับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

นี่คือสาเหตุที่ท่านนายกรัฐมนตรีถึงกับทะลุกลางปล้องในขณะที่ปลัดทบวงฯ กำลังชี้แจง ว่า "ฟังแล้วเวียนหัว เด็กจะตายเร็วขึ้น เราต้องการลดภาระการสอบ แต่กลับเอาหลายอย่างมารวมกัน จะทำให้เด็กจะต้องกวดวิชามากขึ้น ระบบเก่าว่าแย่แล้ว ระบบใหม่แย่ยิ่งกว่า เพราะมันไม่ช่วยแก้ปัญหากวดวิชาเลย"

ไม่ว่าท่านนายกฯ ทักษิณ จะเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิดก็ตาม แต่เสียงส่วนใหญ่ของชาวบ้านที่ลูกกำลังเรียน ม.4 ในปีนี้ในโรงเรียนนำร่องหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งหลายกำลังว้าวุ่นใจครับดังที่ผมบ่นไปในคราวก่อน จนถึงวันนี้ทิศทางนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มากผมถึงอยากให้ท่านทั้งหลายฟันธงกันได้แล้วว่าจะเอายังไงกัน ผมเป็นครูน้อยก็ตอบปัญหาให้ความกระจ่างผู้ปกครองไม่ได้อยู่ดี

แม้ว่าท่านปลัดทบวงจะรีบชี้แจงว่า ระบบเอนทรานซ์ใหม่นี้จะไม่ได้มีการสอบมากขึ้น เพราะ National Test เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนใน 8 กลุ่มสาระวิชาอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นการประเมินผลการเรียน จึงไม่น่าห่วงจะมีการกวดวิชามากขึ้น (การกวดวิชาเป็นเพียงกลุ่มของเด็กในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น)

ผมจะมองต่างมุมตรงเรื่องกวดวิชาเล็กน้อยนะครับ ขนาดหลักสูตรกลางตัวเดียวกันทั่วประเทศยังกวดวิชามากมายขนาดนี้ แล้วนี่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต่างคนต่างทำ เน้นกันไปตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของแต่ละท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกันแน่ๆ ยิ่งต้องกวดวิชา กวดให้หนักเพื่อให้ผ่านข้อสอบกลางระดับชาติ (เชื่อผมเหอะ) ที่แน่ๆ ก็คือ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของแต่ละที่นั้นออกแบบมาให้เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง (โรงเรียน) เพราะแต่ละแห่งนั้นมีทรัพยากรทางการศึกษาที่แตกต่างกัน ทั้งอัตรากำลังครูที่ขาดแคลนในสาขาวิชาหลักๆ สื่อการเรียนการสอนที่ขาดแคลนหรือล้าสมัยจนน่าเวทนา (ครูเราเมื่อไหร่จะเลิกผักชีโรยหน้าเวลาผู้หลักผู้ใหญ่มาตรวจราชการเสียทีนะ บ่นให้ใครนี่?)

เรื่องการกวดวิชาไม่ใช่ของเด็กในเมืองกลุ่มเดียวแล้วครับ เด็กชนบทห่างไกลก็กวดวิชาเหมือนกัน (เชื่อหรือไม่? ว่าในโรงเรียนระดับจังหวัดใหญ่ๆ มีชื่อเสียงจะมีรถตู้รับส่งนักเรียนมารอรับ-ส่งนักเรียนจากต่างอำเภอเข้ามาเรียนมากกว่า 10 คัน) นักเรียนต่างอำเภอต้องนั่งรถเข้ามาเรียนกวดวิชาในเมืองในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเดี๋ยวนี้เขาตาสว่างกันแล้ว คนในชนบทก็มีความฝันที่จะก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน

"...แม้ว่าจะชี้แจงแล้ว ผมก็ยังไม่เข้าใจ แนวความคิดยังแตกต่างกันอยู่..." ท่านนายกฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "...แต่ผมขอฝากไว้ว่าจะคิดระบบใดก็ต้องมองให้รอบด้าน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ให้ดูข้อดี ข้อเสีย บางทีเราคิดว่าเราทำเพื่อความเป็นธรรม เท่าเทียมกัน แต่อยากถามว่าเท่าเทียมจริงแค่ไหน มองครบกันทุกมิติหรือยัง? อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคนจนเรียนสักกี่คน ผมเห็นแต่นักศึกษาส่วนใหญ่ถือกระเป๋าหลุยส์วิตตอง"

ความคิดของ พ.ต.ท. ทักษิณ แล้วยังยืนยันแนวคิดว่า น่าจะมีการศึกษาระบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีมาตรฐานทางการเรียนและสามารถนำผลการเรียนไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยใดก็ได้ โดยที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้คัดเลือกเอง และยังห่วงเรื่องการสอนวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ให้มากขึ้น ด้วยการสอดแทรกเข้าไปในวิชาต่างๆ เด็กที่จบชั้น ม.6 ควรจะพูดภาษาอังกฤษได้ (ตรงกับที่ครูมนตรีคิดและบ่นไปอีกแล้วครับ ลองย้อนไปอ่านเรื่องเก่าๆ ดูซิ)

พูดถึงสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้วผมได้ทราบข่าววงในมาว่า ระดับตักศิลาที่มีชื่อเสียงหลายแห่งเริ่มหยุดจำนวนรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี (Freeze = แช่แข็ง) ไว้ที่จำนวนหนึ่งมาสองสามปีแล้ว ทั้งๆ ที่ทรัพยากรของสถานศึกษานั้น (ทั้งจำนวนอาจารย์ อุปกรณ์ สถานที่) สามารถขยายการรับได้อีกมาก เพราะมัวไปคิดถึงแต่อัตราส่วนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก ว่าต้องมีเท่านั้นเท่านี้จึงจะศิวิไลซ์เหมือนต่างประเทศ มีอะไรเข้าใจผิดกันหรือเปล่า? หรือจะเห็นแก่รายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือศักดิ์ศรีที่คิดว่าจะได้รับการยกย่อง หรือจะขยายการรับปริญญาตรีให้มากขึ้นเพื่อให้ลูกหลานไทย ชาวไทยมีมาตรฐานการศึกษาสูงขึ้นดี?

ผู้ปกครองหลายรายบ่นให้ผมได้ยินว่า นี่ถ้ามหาวิทยาลัยทั้งหลายออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกันหมด คิดค่าเล่าเรียนกันเพิ่มมากขึ้น ผู้ปกครองทั้งหลายคงได้อ่วมกันมากขึ้น ผมก็เลยปิ๊งขึ้นมาว่า อาจเป็นได้ที่จำนวนรับนักศึกษาอาจมากขึ้นจนไม่ต้องสอบแข่งกันวุ่นวายอย่างปัจจุบันก็เป็นได้ (ไม่อยากคิดว่าจะจริงนะครับ)

นอกจากการรับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว ก็อยากให้ท่านผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องทั้งหลายได้หันกลับมาดูการรับนักเรียนในระดับ ม.1 และ ม.4 กันบ้างเถิด อย่าเอาปัญหาการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ไปกำกับชีวิตของคนบ้านนอก (ชนบท) อย่างพวกผม โปรดได้ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามความจริงด้วยเถิด คุณภาพการศึกษาจะได้เกิดเสียที เพชรดีต้องการช่างเจียระนัยฝีมือดีฉันใด นักเรียนบ้านนอกที่มีคุณค่าอย่างเพชรก็อยากให้ครูดีๆ ช่วยชี้ทางฉันนั้น ปล่อยให้เขาวัดกันด้วยฝีมือการเรียนรู้ แล้วปัญหาเด็กฝากต่างๆ จะบรรเทาลง ยิ่งตอนนี้กระแสการเมืองแผ่ซ่านลงไปในแวดวงการศึกษา (ถ้าไม่เชื่อผมไปดูแถวเว็บบอร์ดกรมสามัญศึกษานะครับ) จนหาความสามัคคีธรรมเป็นเอกฉันท์ไม่ได้แล้ว กลัวว่าอนาคตของลูกชาวนาจะได้เป็นชาวนาต่อไปครับท่าน (ผมก็ลูกชาวนาเหมือนกัน แต่ได้ดีเพราะมีครูดี พ่อแม่ดีมองเห็นแก่อนาคตของลูก สู้อุตส่าห์พากเพียรส่งเสีย จนมีวันนี้)

การพัฒนาคุณภาพของนักเรียน พัฒนาคุณภาพของโรงเรียนให้มีเท่ากัน ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษาที่เหมาะสมนั้นทำได้ (นโยบายเดิมทำโรงเรียนให้เท่ากันด้วยการปรับคุณภาพให้ต่ำลงเท่ากัน หรือเปล่า?) เรามาช่วยกันแก้ให้เป็นระบบกันดีกว่า ความเป็นธรรมจะได้เกิดขึ้นจริงๆ แม้ว่าลูกชาวนาจะได้ถือแต่ย่ามขาดหลุยส์วิตตองไปบ้างก็ตาม ขอบพระคุณครับถ้าจะมีบัญชาให้เปลี่ยนแปลงเป็นของขวัญปีใหม่แก่ชาวไทย...

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 27 ธันวาคม 2545

 

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy