อาชีพบริการบนเรือสำราญ

ด้รับคำถามมาจากน้องๆ ที่ติดตามอ่านบล็อกนี้ สอบถามมาว่า “มีการรับสมัครงานไปทำอาชีพพนักงานบนเรือสำราญในต่างประเทศ รู้สึกสนใจ” และอยากทราบว่า “มีความแตกต่างจากอาชีพบริการบนเครื่องบินมากไหม?” เหมือนโดนหมัดตรงเข้าปลายคางเลยครับ ไม่มีเพื่อนในอาชีพนี้เลยครับ แต่ก็เคยใช้บริการ “เรือสำราญ” ตอนช่วงลาพักผ่อนอยู่ครับ ล่องเรือไปเที่ยวหมู่เกาะเบอร์มิวด้าตอนต้นปีนี้เอง ก็เลยไปค้นหาความรู้เอามาเล่าสู่กันฟังครับ

ธุรกิจเรือสำราญ (Cruise Line)

ธุรกิจเรือสำราญ (Cruise Line) เป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่เติบโตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา หลายคนรู้จักเรือสำราญมาจากภาพยนตร์ดัง เรื่อง “ไททานิค” แน่ๆ เลย โดยเฉพาะฉากบนหัวเรือไททานิค ที่แจ็คและโรสกำลังโต้ลมนั่น ช่างน่าประทับใจ และบางคนก็อาจจะกลัวกับฉากเรือล่มได้เหมือนกัน ซึ่งการท่องเที่ยวบนเรือสำราญนั้น มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมาก

ดังนั้นธุรกิจนี้จึงต้องการพนักงานที่มีความสามารถ และเซอร์วิสดีขั้นเทพจริงๆ เพราะนักท่องเที่ยวที่ยอมจ่ายแพง (ค่าขึ้นเรือหลักหมื่น + ค่าใช้จ่ายบนเรือ = รวมๆ แล้วบางคนอาจใช้จ่ายถึงหลักแสน) ก็หวังที่จะได้รับบริการและความพอใจขั้นสุดยอดอยู่แล้ว แถมการท่องเที่ยวบนเรือสำราญนั้นมีการแข่งขันสูง เพราะนอกจากจะแข่งกันเองระหว่างธุรกิจเรือสำราญด้วยกันแล้ว ยังต้องแข่งกับธุรกิจท่องเที่ยวบนฝั่งอีกด้วย ดังนั้นจึงมีการคัดคนหรือพนักงานที่จะขึ้นไปทำงานบนเรืออย่างเข้มงวดกันมากทีเดียว


สำหรับธุรกิจเรือสำราญ (Cruise Line) มีมากมายในหลายประเทศทั้งทางแถบเอเชีย แต่เป็นที่นิยมของนักเที่ยวทางยุโรปและอเมริกา บริษัทเดินเรือที่มีชื่อเสียงในระดับโลกนั้น ได้แก่

Disney Line เส้นทางในการเดินเรือมีหลายเส้นทาง เช่น

  • Greek Islands Cruises เส้นทางนี้ก็จะเที่ยวตามเกาะต่างๆ ของประเทศกรีซ ออกเดินทางจากท่าเรือที่ตุรกี โครเอเชีย หรือเมืองเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ ใช้เวลาล่องเรือ 7 – 21 คืน
  • Alaska Cruises เส้นทางนี้จะล่องไปยังอะลาสก้า (อเมริกา) ส่วนมากออกเดินทางจากแคนาดา ใช้เวลา 7 – 12 คืน
  • Mexico/Central America Cruises เส้นทางนี้จะไปยังทะเลในเม็กซิโกหรือประเทศอื่นๆ ในแถบอเมริกากลาง ออกเดินทางจากเม็กซิโก ใช้เวลา 3 – 14 คืน
  • Mediterranean Cruises เส้นทางนี้ล่องผ่านหลายประเทศ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี และสิ้นสุดที่กรีซ ใช้เวลา 7 – 14 คืน

Carnival Line มีเส้นทางในการเดินเรือที่ใหญ่มาก ทั้งในอเมริกา เกาะฮาวาย แคนาดา เบอร์มิวดา อเมริกาใต้ ยุโรป สแกนดิเนเวีย ยุโรป ทะเลแคริบเบียน (เคยเดินทางไปกับสายนี้ทริปสั้นๆ 3 คืน)

Norwegian Line เส้นทางในการเดินเรือจะอยู่ในเขตประเทศนอร์เวย์ โดยสามารถเดินทางออกจากท่าเรือกว่า 30 ท่าเลยทีเดียว

ติดตามชีวิตการทำงานของทีมงานบนเรือสำราญขนาดใหญ่ พวกเขาทำอะไรบ้าง?

มีงานบริการอะไรที่ต้องทำบนเรือ

แผนก Housekeeping หรือแผนกแม่บ้าน ต่อให้มีประสบการณ์ล้นฟ้ามาจากไหน แทบทุกคนจะต้องเริ่มจากตำแหน่ง Hotel Steward ก่อนทั้งนั้น หน้าที่งานก็คือ ทำความสะอาดห้องพัก หรือบริเวณอื่นๆ บนเรือให้สะอาด รายได้อยู่ที่ประมาณ 550 – 700 USD ต่อเดือน หากผลงานเข้าตากรรมการ ก็มีโอกาสเลื่อนขึ้นไปเป็น Assistant Stateroom Steward หรือผู้ช่วยหัวหน้าแผนกแม่บ้าน รายได้อยู่ที่ 1000 – 1400 USD ต่อเดือน และตำแหน่งใหญ่สุดของแผนกนี้ก็คือ Stateroom Steward ก็คือหัวหน้าของแผนกนั่นเอง รายได้เบาๆ ก็แค่ 3000 – 4000 USD เหยียบแสนเท่านั้นเอ๊งงงงง (คูณโดยประมาณ 30 บาท/เหรียญ นะจ๊ะ)

แผนก Bar หรือบาร์ที่ขายอาหารและเครื่องดื่ม ตำแหน่งเริ่มต้นคือ Bar Steward หน้าที่คือ ยืนประจำอยู่ที่บาร์ รับออเดอร์จากแขกว่า ต้องการจะสั่งอาหาร/เครื่องดื่มอะไร รายได้อยู่ที่ 550 – 700 USD หากได้เลื่อนขั้นก็จะเป็น Bar Waiter/Bar Waitress ซึ่งจะไม่ได้ยืนประจำที่บาร์เฉยๆ แต่จะมีหน้าที่เสิร์ฟ รายได้อยู่ที่ 1000 – 3000 USD และหากได้เลื่อนขั้นอีก ทีนี้ก็จะเป็น Bartender (บาร์เทนเดอร์ คนผสมเครื่องดื่มที่เราเห็นเขาเขย่าขวดเครื่องดื่มโชว์ หมุนๆ ให้เครื่องดื่มผสมกันกับน้ำแข็งและโซดา หรือน้ำผลไม้ ก่อนรินลงในแก้วนั่นแหละ) รายได้อยู่ที่ 2500 – 3500 USD!!! (เพิ่งรู้ว่าบาร์เทนเดอร์เงินดีขนาดนี้)

นอกจากนี้ แผนกนี้จะทำงานคล้ายๆ เซลส์ (Sales) กล่าวคือ ถ้าขายเครื่องดื่มและอาหารได้เยอะ เราก็จะได้ค่าคอมมิชชั่นจากยอดขายด้วย ขอบอกว่าเงินไม่น้อยเลยนะ ขั้นต่ำก็ 5% แล้ว สมมติสั่งไวน์ขวดละหมื่น เราก็ได้ตั้ง 500 บาทแล้ว (รู้สึกน้ำลายไหลแล้ว 555)

แผนก Dining Room หรือห้องอาหาร เริ่มต้นที่ตำแหน่ง Restaurant Steward ก็คือพนักงานที่คอยดูแลห้องอาหาร เก็บโต๊ะ เก็บจาน ทำความสะอาด รายได้อยู่ที่ 800 – 1400 USD อื้อหือ นี่เสิร์ฟเฉยๆ ได้ตั้งหลายหมื่นแน่ะ แล้วถ้าเป็นฝ่ายปรุงอาหาร หรือพ่อครัว (Chef) ที่มีฝีมือและประสบการณ์นี่อย่าถามเรื่องเงินดีกว่า แพงแน่นอน

คุณสมบัติของบุคคลที่จะทำงานเหล่านี้

1. ภาษาอังกฤษต้องดีถึงดีมาก หลายคนอาจสงสัย ไม่เก่งอังกฤษจะไปได้มั้ยครับ? ไม่เก่งอังกฤษก็ต้องไปฝึกให้เก่งล่ะ เพราะกว่าจะได้ทำจริงๆ นั้น น้องๆ ต้องเจอการสัมภาษณ์ที่เข้มข้นมาก หากจับพลัดจับผลูได้ไปทำงานบนเรือแต่กลับใช้ภาษาได้ไม่ดี และอยากลาออก ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นงาน Contract ที่มีสัญญาหลายเดือน ออกก่อนก็ถือว่าผิดสัญญา จะหนีก็ไม่ได้อีก เพราะเรือล่องอยู่กลางทะเลนะเออ “ดังนั้นอย่าถามว่าไม่เก่งอังกฤษทำได้มั้ย ไม่เก่งก็ต้องไปฝึกให้เก่งนะเท่านั้น”

2. อายุระหว่าง 21-35 ปี เด็กไปเดี๋ยวผู้ปกครองเป็นห่วง อายุมากไปเดี๋ยวมีปัญหาสุขภาพอีก

3. ร่างกายแข็งแรง บุคลิกดี แน่นอนว่างานบริการที่ไหนๆ ก็อยากได้คนที่บุคลิกดี ไม่ต้องถึงกับหล่อสวยเริ่ด (ถ้าจะขนาดนั้นก็ไปเป็นดาราเถอะ) บุคลิกดีที่ว่าคือยิ้มแย้มแจ่มใส มั่นใจ ดูสง่าผ่าเผยนั่นเอง

4. ควรมีประสบการณ์งานบริการมาบ้าง เช่น หากใครเคยทำงานในธุรกิจโรงแรมระดับ 5 ดาวมาก่อน ก็มีโอกาสได้รับการคัดเลือก มากกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย หรือน้องๆ คนไหนเรียนจบการโรงแรมมาก็ถือว่าได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ มากเลย

ข้อดี-ข้อเสียในสายอาชีพ

ข้อดีของการทำงานบนเรือสำราญ

  1. เก็บเงินได้เยอะ (มาก) เพราะไม่มีอะไรล่อตาล่อใจให้เราช้อปปิ้งมาก (ไม่เหมือนพวกแอร์-สจ๊วต ที่ไปต่างประเทศทีก็ช็อปกันกระจาย) ก็อยู่บนเรือนี่เนาะ กินอยู่ก็ฟรีบนเรือ วันๆ แทบไม่ต้องใช้เงินเลย สมมติได้เงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท บางคนอาจจะมีจ่ายจิปาถะเล็กน้อย และเหลือเก็บมากถึง 45,000 บาทต่อเดือน ทำแป๊บเดียวก็เก็บเงินได้เยอะมากๆ แล้ว เคยได้ยินว่ามีบางคนทำงานไม่กี่ปีก็เก็บเงินไปเรียนการโรงแรมที่ประเทศสวิสได้แล้ว เพื่ออัพเกรดตัวเองในอาชีพ
  2. ได้ประสบการณ์ขั้นสุดยอด ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมีโอกาสได้ทำงานบนเรือสำราญ และมีโอกาสเดินทางไปยังอีกซีกโลกหนึ่ง หากใครอยากไปเที่ยวอเมริกาใต้ คงต้องใช้เงินขั้นต่ำเป็นแสนสำหรับการเดินทาง กินอยู่และท่องเที่ยว แต่หากทำงานบนเรือล่ะก็ มีโอกาสได้เดินทางไปฟรีๆ ดีจังเลย (ช่วงนักท่องเที่ยวลงไปจากเรือ เราก็สามารถลงมาพักผ่อนได้เหมือนกัน แม้จะไม่ได้ไปไกลจากเรือมากนักก็ตาม)
  3. ได้วันหยุดยาว เพราะอาชีพนี้ต้องทำงานติดกันบนเรือประมาณ 6 – 8 เดือน แต่เวลาหยุดทีก็ได้พักนาน 2 – 3 เดือนเชียวนะ! เข้าทำนอง Work hard, Play harder

ข้อเสียของการทำงานบนเรือสำราญ

  1. ไกลบ้านนานมาก เหงาแน่นอน การทำงานแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการไปเรียนเมืองนอกเลยล่ะ เพราะอยู่ห่างไกลบ้านนานมากเกือบปีแน่ะ ดังนั้นใครเป็นคนติดบ้านหรือขี้เหงาขั้นสูงสุด คงไม่เหมาะกับงานนี้เท่าไหร่นะ
  2. งานหนัก การทำงานบนเรือ “ต้องทำทุกวัน” แทบไม่มีวันหยุด บางวันก็ตก 10 ชั่วโมง (แต่วันไหนที่เรือจอดที่ฝั่ง และนักท่องเที่ยวลงไปเที่ยวบนฝั่งตามโปรแกรม เราก็จะว่าง ไม่ต้องทำงานหนัก) นักท่องเที่ยวก็เยอะ เรือบางลำจุได้ถึงหลักพัน ถึงเงินจะเยอะแต่ความรับผิดชอบก็เยอะมากทีเดียว มีคนพูดไว้ว่า ถ้าเราทำงานบนเรือได้ เราก็สามารถทำงานที่ไหนๆ บนโลกนี้ก็ได้ (เพราะทนถึกมากนั่นเอง)

มีค่าใช้จ่ายในการทำงานไหม?

การที่เราจะไปทำงานบนเรือได้นั้น แน่นอนว่าก็ต้องมีการดำเนินการนั่นนี่ ค่อนข้างเยอะ เพราะทำงานในต่างประเทศเป็นหลัก ลองมาดูดีกว่าว่า ต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการทำงานนี้

  • ค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางไปยังประเทศที่เรือออกเดินทาง เช่น ถ้าได้ทำสัญญาทำงานกับ Norvegian Line เราก็ต้องเดินทางไปขึ้นเรือที่ประเทศนอร์เวย์ ค่าตั๋วเครื่องบินประมาณ 4 – 5 หมื่นบาท (แต่แว่วมาว่า ในบางครั้งทางเรือก็เป็นคนออกค่าตั๋วเครื่องบินให้เราด้วย ต้องดูในรายละเอียดของสัญญาการทำงาน)
  • ค่าวีซ่า การขอวีซ่านั้นไม่ยาก เพราะหากเรามีใบสัญญาจ้างทำงาน แค่นำใบสัญญานี้ไปขอวีซ่ากับทางสถานทูตประเทศนั้นเป็นอันจบ เสียเงินไม่เกินหมื่น (เมื่อไปถึงที่ทำงานต้นทาง บริษัทจะดำเนินการเรื่องวีซ่าเข้าประเทศอื่นๆ ที่ต้องเดินทางแวะพักให้เป็นกรุ๊ปอีกที)
  • ค่าตรวจสุขภาพ สุขภาพที่แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานบนเรือ เพราะเราทำงานทุกวันแทบไม่มีวันหยุด ใครสุขภาพไม่ดีได้ป่วยออดๆ แอดๆ ไม่ดีแน่ๆ บริษัทคงไม่อยากได้เราไปเป็นภาระ ในส่วนนี้จะเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนอีก 4 – 5 พันบาท ไม่น่าเกินนี้ครับ (สถานที่ตรวจสุขภาพจะถูกกำหนดเลยว่าตรวจที่ไหน ส่วนใหญ่ในเมืองไทยจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำที่เขารับรอง) นอกจากนี้หากน้องๆ ทำงานจนครบสัญญา ทางบริษัทเรืออาจจะจ่ายเงินส่วนนี้คืนมาให้ด้วยนะ!

มากกว่า 200 วันต่อปีที่ “พนักงานบริการบนเรือสำราญ” มาตรฐานสากลสูงไม่แพ้งานบริการบนเครื่องบิน ได้ประสบการณ์ชีวิต รู้จักเพื่อนต่างชาติ ค่าตอบแทนสูง ทุกคนทำได้อยู่ที่การเตรียมพร้อมด้านสุขภาพ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ต้องมีทักษะด้านภาษาอังกฤษในขั้นดีถึงดีเยี่ยม (ได้ภาษาอื่นด้วยยิ่งดี เช่น ภาษาฝรังเศส สเปน ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ เป็นรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากบริษัทเรือ ในการบริการคนหลายชนชาติในแต่ละเที่ยว)

ระยะเวลาการทำงานขึ้นอยู่กับที่ตกลงกับทางบริษัท และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มากสุดประมาณ 10 เดือน น้อยที่สุดคือ 7 เดือน เวลาที่เหลือเป็นวันหยุด เราก็จะกลับมาเมืองไทยพักผ่อน ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวได้ ซึ่งเงินเดือนอาชีพนี้ค่อนข้างสูงเฉลี่ย 30,000 – 50,000 บาทต่อเดือน ทำทุกวันบางเดือนทำดีๆ รวมแล้วก็ได้เป็นแสนจากค่าทิป หรือค่าคอมมิชชั่นในบาร์ขายเครื่องดื่ม

ต้องเตรียมใจไว้ด้วยนะว่า อาชีพนี้ทำงานหนักมาก และยังต้องผจญกับความเหงา ว้าเหว่ ล่องลอยกลางทะเล แม้จะเรือลำใหญ่เพียงใดหากเจอพายุกลางทะเล สภาพอากาศแปรปรวน เราก็ต้องทนอยู่ให้ได้กับมัน ตลอดเวลาในเรือเที่ยวนั้นที่ยาวนาน (ลูกเรือบนเครื่องบินสบายกว่า บินแป๊บแป๊บก็ถึงที่หมายได้พักแล้ว)

ถ้าคิดจะก้าวสู่สากล ทุกอย่างอยู่ที่การเตรียมตัว ซึ่งไม่ง่ายและก็ไม่ยาก นั่นคือ เตรียมพร้อมด้านสุขภาพ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษ การพูดต้องฉะฉาน มั่นใจ ซึ่งทุกคนต้องผ่านการทดสอบ Marilins และสำคัญที่สุดคือ ความรู้ ทักษะความสามารถในงานที่สมัครไปทำ เช่น สมัครพนักงานเสริฟก็ต้องรู้ทุกขั้นตอน สมัครบาร์ รู้ส่วนผสมเครื่องดื่ม หากใครมีประสบการณ์และผ่านงานโรงแรมก็จะมีโอกาสมากขึ้น

คงเป็นแนวทางสำหรับน้องๆ ที่ถามมาได้นะครับ เคยมีคนไทยไปทำงานกันไหม? อ้อ! มีครับ มีคนไทยไปทำงานบนเรือเหล่านี้กันมาแล้วหลายคนทั้งผู้หญิง ผู้ชายนะครับ ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน มีเงินทองเก็บกลับมากันมากโขทีเดียว เพียงแต่ขอให้มีความอดทนสู้งานเท่านั้น หนักไหม? ก็ดูได้จากคลิปสารคดีตอนต้นบทความนะครับ ขอให้โชคดีได้ทำตามฝันกันทุกคน 😀  😛  🙂

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)