อาชีพนักบินพาณิชย์ที่คนรุ่นใหม่ปรารถนา

ากบทความที่แล้ว “อาชีพนักบิน ความฝันเด็กรุ่นใหม่” ไม่คิดว่าจะมีคนสนใจติดตามอ่านมากขนาดนี้ และยังมีถามต่อมาอีกว่า “แล้วได้เงินเดือนเท่าไหร่? ทำงานง่าย สบายไหมอาชีพนี้” คงไม่ง่ายหรอกครับ กับอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบมากมายเช่นนี้ ไหนจะชีวิตผู้โดยสารกว่าร้อยชีวิตบนเครื่อง ที่ต่างก็มีฝันและปรารถนาต่างกัน บางคนอยากกลับไปเยี่ยมบ้านเยี่ยมครอบครัว พบกับคนรัก บางคนกำลังเดินทางไปเจรจาธุรกิจร้อยล้าน พันล้าน บางคนมีความฝันจะไปเรียนรู้ท่องเที่ยวดินแดนใหม่ๆ และอีกมาก ที่กัปตันจะต้องรับผิดชอบพาพวกเขาไปยังจุดหมาย ไหนจะต้องรับผิดชอบเครื่องบินมูลค่านับพันล้านให้กับบริษัท ได้บริการผู้คนไปอีกนานๆ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ ควบคุมการบินและการบริการผู้โดยสารทั้งหมดบนเครื่อง ต้องมีความเครียดในการตัดสินใจแน่นอน “นักบิน เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้อง…”

เงินเดือนมากไหม?

ขอตอบคำถามเรื่อง “เงินเดือน” ก่อนว่าได้รับเท่าไหร่กัน ก็มากโขเท่ากับความรับผิดชอบนั่นแหละครับ อย่างสายการบินในตะวันออกกลาง เช่น Qatar, Emirates, Etihad ก็มี 60,000 AED (อิมิราติ เดียร์แฮม (Dirham) สกุลเงินของ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เทียบเงินไทย ประมาณ 480,000 บาท) ยังไม่นับรวมค่าชั่วโมงบิน และสวัสดิการอย่างอื่นอีก แต่อย่าเพิ่งฝันไปไกล เพราะนักบินที่ได้รับเงินขนาดนี้นั้น เป็นกัปตันที่มีอายุงานมากว่า 7 ปี มีชั่วโมงบินมาหลายพันชั่วโมงแล้ว บินเครื่องขนาดใหญ่ 4 เครื่องยนต์ได้ และหากกัปตันท่านนี้เป็น “ครูการบิน” (ฝึกนักบินคนอื่นขึ้นเป็นกัปตัน) จะได้เงินท็อปอัพเพิ่มอีกประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน ณ ปัจจุบันน่าจะมีรายได้มากกว่านี้ แต่พยายามถามพี่กัปตันทั้งคนไทย และต่างประเทศก็มีแต่ส่งยิ้มให้ (ข้ออ้างเป็นความลับของบริษัท)

คราวนี้มาดูในประเทศไทยเราและประเทศข้างเคียงบ้าง ขอยกตัวอย่าง “การบินไทย” เมื่อหลายปีก่อน (ข้อมูลจากพี่กัปตันนิรนาม ผู้ไม่อยากให้เอ่ยนาม ตอนนี้ลาออกไปอยู่สายการบินในตะวันออกกลางแล้ว) เล่าว่า “นักบินเข้า(จบ)ใหม่การบินไทยมีรายได้เงินเดือน 60,000 บาท บวกเบี้ยเลี้ยงอีก 30,000 บาท ถ้าเป็นนักบินผู้ช่วย (Co-Pilot) จะมีรายได้อยู่ที่ 160,000 – 180,000 บาท เมื่อขึ้นเป็นกัปตันจะมีรายได้ที่ประมาณ 280,000 บาท(ปัจจุบันอาจมีการปรับขึ้นแล้ว หรือเพิ่มสวัสดิการเพื่อดึงตัวนักบินไว้ ไม่ให้ไปอยู่ในสายการบินตะวันออกกลางที่มีทุนหนากว่า ดูภาพประกอบด้านล่าง) ก็ไม่น้อยเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ

ตารางอัตราเงินเดือนของกัปตันสายการบินต่างๆ ในเอเชีย

มีคำถามว่า “ทำงานทุกวันไหม ได้พักเมื่อไหร่?” คำตอบคือ ตามกฎขององค์การบินพลเรือน (ICAO) จะบินได้ไม่เกิน 110 ชั่วโมงต่อเดือน (เพื่อความปลอดภัยไม่ให้นักบินล้าเกินไปในการทำงาน) เมื่อทำการบินไกลเกินกว่าระยะเวลา 6 ชั่วโมงในแต่ละเที่ยวบิน (เริ่มนับจากเครื่องบินเคลื่อนออกจากหลุมจอดแท็กซี่ไปยังรันเวย์บินขึ้น จนถึงลงจอดสนามบินปลายทางที่หลุมจอดเช่นเดียวกัน) นักบินพร้อมด้วยลูกเรือทุกคนจะต้องได้พักอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้อีก หากมีการลาหยุดพักผ่อนประจำปี ก่อนจะมาปฏิบัติหน้าที่ต้องได้นอน/พักผ่อนมาแล้วอย่างน้อย 10 ชั่วโมงจึงจะขึ้นบินได้

ยกตัวอย่าง พี่กัปตันนิรนาม ของเรา ลาหยุดพักผ่อนกลับเมืองไทย 5 วัน พี่เขามีตารางบินในวันที่ 6 เวลา 17.00 น. ที่สนามบินต้นทางดูไบ ก็ต้องเดินทางกลับจากสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ในวันที่ 5 เวลาไม่เกิน 24.00 น. ใช้เวลาบินถึงดูไบ 6 ชั่วโมง คือถึงในช่วงเวลาประมาณ 06.00 น. เพื่อพักผ่อนให้เกิน 10 ชั่วโมงตามระเบียบ “แล้วเขาจะรู้ได้อย่างไร?” ไม่ยากเลยก็ดูเวลาที่ทำการแสตมป์พาสปอร์ตเข้าเมืองไงครับ “ถ้าเขารู้ว่าพักผ่อนไม่พอล่ะ จะเป็นยังไง?” ก็ระงับเที่ยวบินไม่ให้ทำงานในวันนั้น และอาจมีการลงโทษอื่นๆ ตามระเบียบของบริษัทอีกด้วย เพราะถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อตัวบริษัท และต่อผู้โดยสารในเที่ยวบินนั้นๆ ถ้าเรื่องนี้ล่วงรู้ถึงหู ICAO นี่มีการปรับวงเงินสูงมาก และอาจถึงขั้นระงับใบอนุญาตด้วย (ขนาดเฉพาะกรณีลูกเรืออย่างผมนี่ เคยโดนให้ออกมาแล้วด้วยครับ)


ห้องพักผ่อนของนักบินและลูกเรือขณะปฏิบัติงานบนเครื่อง

ยังมีคำถามตามมาอีกว่า “ถ้าบินไกลๆ มากอย่าง ดูไบ-โอ๊คแลนด์ (นิวซีแลนด์) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมงขึ้นไป นักบินและลูกเรือไม่ง่วงหรือ?” ไม่ต้องห่วงครับ มนุษย์มีเหนื่อยมีเพลีย แต่บนเครื่องจะมีห้องพักของนักบิน (ด้านบนเหนือ/หลังห้องขับ) ส่วนลูกเรือจะมีห้องพักนอนท้ายเครื่องครับ สลับสับเปลี่ยนกันทำงาน (กรณีนี้จะใช้นักบินมากกว่า 2 คนครับ)

หน้าที่ความรับผิดชอบของนักบิน

แต่การที่จะได้เป็นนักบินพาณิชย์นั้น “เก่ง” อย่างเดียวไม่พอครับ พี่กัปตันนิรนาม คนเดิมบอกถึงหน้าที่ที่จะต้องทำมีดังนี้

  1. กำหนดตารางการบินในแต่ละเดือนว่า เราจะบินที่ไหนบ้าง เวลาใดบ้าง (ต้องอ่านและศึกษาไม่น้อยตั้งแต่สภาพภูมิอากาศในโซนที่เราจะบินผ่าน ศึกษาเส้นทางบิน ทิศทางการขึ้นลงของแต่ละสนามบิน อุปกรณ์เครื่องช่วยบินของสนามบินแต่ละแห่งว่ามีมากน้อยเพียงใด เป็นระบบแบบไหน ไม่ง่ายเลยเนอะ)
  2. ตรวจสภาพเครื่อง ทั้งภายนอกและภายในของเครื่องบิน ว่าพร้อมที่จะบินหรือไม่ (บางคนคิดว่าเป็นเรื่องของช่างเครื่อง จริงๆ นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อเราเป็นผู้รับผิดชอบเครื่องบินลำนั้นแล้ว การตรวจสอบด้วยตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมันหมายถึงทั้งความปลอดภัยในชีวิตนักบินเอง ลูกเรือ และผู้โดยสารทุกคน ตรวจตั้งแต่รอยรั่วซึมระบบไฮโดรลิกต่างๆ ของปีก ฐานล้อ (ที่เรียกว่า Landing Gear) ล้อและยาง ระบบไฟส่องสว่างตำแหน่งต่างๆ ตัวเซนเซอร์ซึ่งมีเป็นร้อย เยอะครับเยอะ)
  3. เตรียมพร้อมที่จะบินรวมทั้งเริ่มติดต่อกับหน่วยควบคุมการบินทั้งในและต่างประเทศ (สำคัญมากเพราะต้องบินผ่านน่านฟ้าประเทศอื่น รุกล้ำไม่แจ้งมีโอกาสโดนสอยร่วงได้ครับ)
  4. บินตามแผนการเดินทางที่เราได้วางไว้จนถึงจุดหมายปลายทาง (เส้นทางที่กำหนดโดยสายการบินและองค์การบินพลเรือน (ICAO) ประเทศไหนเขาประกาศห้ามบินผ่าน มีสงครามก็ต้องเลี่ยงเส้นทาง คำนวณปริมาณน้ำมันให้พอเพียงต่อการเดินทางในสภาวะต่างๆ)
  5. ขับเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ไปรษณีย์ภัณฑ์ หรือสินค้า (หน้าที่หลักที่ต้องรับผิดชอบให้ถึงที่หมายปลอดภัย)
  6. ควบคุมอากาศยานให้อยู่ในเส้นทาง ซึ่งทำการบินประจำ หรือในเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ทำการบินตามข้อกำหนดในข้อ 1 – 5)
  7. สังเกตเครื่องวัดมิเตอร์ และเครื่องวัดประกอบการบินอื่นๆ ที่ใช้ควบคุมอากาศยาน (บางคนคงเคยได้ยินว่า มีระบบบินอัตโนมัติ ก็นึกว่า กัปตันคงสบายชิวๆ พักผ่อนสายตาได้ ไม่จริงครับ แม้จะถึงเพดานบินสูงแล้วใช้การบินอัตโนมัติ กัปตัน ผู้ช่วยนักบิน ช่างเครื่อง ก็ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบมาตรวัดต่างๆ ติดต่อประสานงานกับภาคพื้นดินตลอด)
  8. ตรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ ใช้เครื่องช่วยในการเดินอากาศสำหรับควบคุมเส้นทางบินของ อากาศยาน (สำคัญมากครับ รถยนต์เครื่องยนต์มีปัญหา คุณจอดแวะข้างทางซ่อมแซมได้ แต่เครื่องบินมันลอยบนฟ้าถ้ามีปัญหา ต้องหาสนามบินฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุดและขออนุญาตลงจอด ซึ่งมันไม่ง่ายนัก เราจึงต้องตรวจสอบกันเข้มข้นมากกว่ารถยนต์นั่นเอง)
  9. อาจเป็นผู้ควบคุมอากาศยาน และรับผิดชอบในลูกเรือทั้งหมด หรือเป็นนักบินผู้ช่วย และอาจทำการบินภายใต้การควบคุมของผู้ควบคุมอากาศยาน (ข้อนี้คือ สถานะคุณคือ กัปตัน หรือเป็นนักบินผู้ช่วย ซึ่งมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน กัปตันคือผู้รับผิดชอบสูงสุดในอากาศยาน ต้องรับผิดชอบกับทุกคน ส่วนนักบินผู้ช่วยอาจได้ทำการบินในการควบคุมของกัปตันอีกที)

จะเห็นได้ว่า เงินเดือนนักบิน ก็สัมพันธ์กับความรับผิดชอบในหน้าที่นั่นแหละ เอาเฉพาะการรับผิดชอบตัวเครื่องบินลำใหญ่ รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันก็หลักพันล้านนะครับ อย่าง Airbus A380 ก็ตกลำละ 220,000,000 $US คิดเงินไทยก็ประมาณ 7,700,000,000 บาทแล้ว รุ่นใหม่เลยที่การบินไทยเพิ่งจะซื้อเข้ามาประจำการ Airbus A350-900 นี่ก็ตกลำละ 311.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว (ถ้าเทียบกับรถทัวร์ 2 ชั้นบ้านเราก็สิบล้านบาทขึ้นนะ นี่ขนาดวิ่งบนดิน)


Airbus A350-900 Thai Airways

ความรับผิดชอบมันมากขนาดนี้ การเป็นนักบินไม่ใช่เรียนเก่งวิทย์-คณิต ภาษาอังกฤษดีเท่านั้น ยังต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ดังนี้

  1. มีกระบวนการคิดที่ดีในการแก้ไขปัญหานั้น มักจะเป็นคนที่รู้จักใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ส่วน ผสมผสานกันได้อย่างสอดคล้องและกลมกลืน ส่งผลให้สมองสามารถสั่งการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. สามารถทำงานภายใต้ภาวะความกดดัน และบริหารความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นให้ได้ มุ่งไปสู่การรับรู้และการตัดสินใจที่ดีต่อไป
  3. สามารถจัดลำดับความสำคัญของข้อมูลได้ มีข้อมูลอันไหนบ้างที่ไม่สำคัญแต่ก็ไม่ตัดทิ้งไป นักบินที่มีทักษะการตัดสินใจที่ดีมักจะเป็นคนที่มีฐานความรู้แน่น รวบรวมข้อมูลที่เก่ง และรู้จักเปลี่ยนแปลงการรับรู้ข้อมูลไปสู่การตัดสินใจอย่างเป็นระบบรวดเร็ว และรอบคอบ
  4. จากคนใจร้อนต้องสามารถปรับตัวให้เย็นลงสักนิด(รวดเร็ว) และมีความรอบคอบมากขึ้น
  5. ไม่ประมาทและต้องลดความเสี่ยงให้มากที่สุด ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริงตามการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์เพื่อหาทางออก โดยไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกเข้าข้างตัวเอง ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ หมั่นพยายามปลูกจิตสำนึกตัวเองในเรื่องความปลอดภัยให้มากๆ
  6. การทำงานของนักบินภายใต้ภาวะที่กดดัน ในเรื่องเวลาและความเสี่ยงที่ต้องปฏิบัติกิจกรรมหลายๆ อย่างในเวลาเดียว ย่อมส่งผลต่อความเครียดและความล้ากับตัวนักบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คุณสมบัตินี้แหละที่จะต้องไปทดสอบทางจิตเวช จากสถาบันเวชศาสตร์การบินของกองทัพอากาศให้ผ่าน เมื่อได้ไปทำงานแล้วก็ใช่ว่าจะสบายนะครับ ข้อนี้ควรคิดคำนึงให้มาก เพราะจะมีทั้งปัญหาและอุปสรรคมากมาย ที่พอจะนำมาบอกกล่าวให้คนที่สนใจทราบดังนี้

  1. ขณะทำงานจะมีความเครียดสูง เนื่องจากมีความรับผิดชอบสูง ต่อชีวิตผู้โดยสารทุกคน (เราจะทนได้ขนาดไหน หลายคนพอเข้าไปฝึกบินเพื่อก้าวไปเป็นกัปตัน ถึงกับบ่นอุบด้วยกฎระบียบที่มีมากมายนึกว่าจะได้ทำตัวเท่ๆ ไม่คิดว่าต้องมาอ่านตำรา หาความรู้ใหม่ๆ ที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา มีที่ถอดใจถึงกับลาออกไปบินเครื่องบินเล็ก เครื่องบินส่วนตัวเอกชนก็มี)
  2. เนื่องจากบินข้ามเส้นแบ่งเวลาบ่อยๆ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และทำให้แก่เร็ว (เรื่องล้าอ่อนเพลียนี่จริงครับ บินจากที่หนึ่งในตอนเช้ามืดใช้เวลา 6 ชั่วโมงเพื่อไปเช้าที่อีกประเทศหนึ่ง ร่างกายงงปรับตัวไม่ได้ ทำให้พักผ่อนนอนไม่ค่อยหลับ และอาจจะทำให้แก่เร็วก็ได้ แบบว่า ผมกัปตันนิรนามยังไม่ยอมรับข้อนี้นัก)
  3. ด้านครอบครัว มีเวลาให้ครอบครัวและเวลาส่วนตัวน้อยกว่าคนปรกติ ดังนั้น ถ้าจะมีภรรยาก็ควรจะมีภรรยาที่เข้าใจ และยอมรับในภาระหน้าที่ของกันและกัน เพราะอาจจะมีเวลาอยู่ด้วยกันไม่มากนัก (พิจารณาเองนะครับ ถ้าจบใหม่ๆ ยังไม่ได้เป็นกัปตัน แนะนำว่า อย่าเพิ่งแต่งงาน เพราะสายการบินตะวันออกกลางที่จ้างแพงๆ นั้นต้องการกัปตันโสด ผ่านงานมา 5-7 ปี เพื่อลดค่าสวัสดิการครอบครัวให้น้อยลง และพร้อมย้ายไปอยู่ประเทศอาหรับในทันที ถ้ามีครอบครัวแล้วคุณต้องมีผลงานการบินที่เขาเชื่อมั่นมากๆ ถึงจะจ้างนะครับ)
  4. ทำงานไม่เป็นเวลา (อันนี้แน่นอนที่สุด วันหยุดของคุณอาจจะทำให้ตรงกับวันสำคัญของครอบครัวไม่ได้ ยิ่งช่วงเทศกาลคริตส์มาส/ปีใหม่นี่ถือเป็นเวลาทอง (Hi Season) ของสายการบินห้ามลา ห้ามขาดกันเลยทีเดียว)
  5. มีความกระตือรือล้นมาก ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการบินอย่างต่อเนื่อง และจะต้องทำการสอบทุกๆ หกเดือน รวมทั้งทดสอบร่างกายและจิตใจเพื่อรักษาใบอนุญาตนักบินไว้ (รวมทั้งจะต้องไปเข้ารับการอบรมการใช้อุปกรณ์การบินใหม่ๆ ที่มีการอัพเกรดเพิ่ม และทดสอบให้ผ่านอีกด้วย จากการบินด้วยเครื่องบินจำลองที่ทางบริษัทกำหนด ไม่ผ่านไม่ได้บินนะครับ)
  6. ไม่มีเวลาเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง เนื่องจากทำงานไม่เป็นเวลา และไม่มีเพื่อนที่สนิทในที่ทำงานทำให้บรรยากาศในการทำงานดูไม่ราบรื่น (เพราะจะทำการเปลี่ยนเพื่อนร่วมงานไปเรื่อยๆ ในแต่ละเที่ยวบิน ทั้งนักบินผู้ช่วย ช่างเครื่อง (วิศกรการบิน) และลูกเรือชาย-หญิง)

มาถึงบรรทัดนี้ ก็คงจะบอกได้แล้วว่า “นักบิน” แค่เรียนเก่งอย่างเดียวไม่พอจริงๆ ช่างเถอะครับ ถ้าคุณมีความตั้งใจจริงๆ อยากทำงานในอาชีพนี้ พี่กัปตัน(นิรนาม) มีคำแนะนำว่า “ขอให้ตั้งใจเรียนให้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยควรเป็นหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือคอมพิวเตอร์ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ดีมากๆ ควรมีความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) ดีพอสมควร เพื่อใช้ในการศึกษาเรื่องทฤษฎีการบิน และใช้ในการปฏิบัติงาน ในการสอบสัมภาษณ์จะมีทั้งการสอบภาษาไทย และสอบเชาว์ปัญญา (Aptitude Test) และมีการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญสาขาการบินจากต่างประเทศ (ที่ถูกจ้างมาเป็นการเฉพาะ) ผู้สมัครจึงต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษในขั้นดีมาก และมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ด้วย”

ในการขับเครื่องบินนั้น ต้องได้รับใบอนุญาตการบิน (Pilot License) รวมทั้งต้องผ่านการตรวจร่างกาย และทดสอบทางจิตเวชจากสถาบันเวชศาสตร์การบินด้วย ที่สำคัญการเรียนสาขานี้นั้นมีค่าใช้จ่ายที่ต้องบอกว่า “สูงมาก” เมื่อเทียบกับการเรียนในสาขาอาชีพอื่นๆ และเงินเดือนที่จะได้รับในอนาคตด้วย เดิมสายการบินหลายแห่งให้ทุนสนับสนุน สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนเพื่อประกอบอาชีพนักบินให้กับบริษัท แต่ระยะหลังๆ จะรับสมัครนักบินที่เรียนจบด้านการบินด้วยทุนของตนเองมากกว่า (ซึ่งถ้าใช้ทุนตนเองเรียนก็ตกประมาณ 3-4 ล้านบาท เมื่อรวมค่ากินอยู่ ค่าที่พักด้วย) แล้วส่งไปเรียนปรับใบอนุญาตให้ตรงกับแบบเครื่องบินที่บริษัทใช้งาน อาจเป็นเครื่อง Boeing หรือ Airbus ซึ่งต้องใช้เงินตัวเองอีกประมาณ 1.5 ล้านบาท รายละเอียดต่างๆ ย้อนกลับไปอ่านบทความเรื่อง “อาชีพนักบิน ความฝันเด็กรุ่นใหม่” นะครับจะได้กระจ่างขึ้น

Loading

About Post Author

1 thought on “Pilot: Not good enough.

  1. สุดยอดไปเลย ตอนนี้ผมก็เป็นนักบินนะครับ นักบินในเกม Flight Simulator ฮ่าๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)