รู้ไว้ก่อนเดินทางโดยเครื่องบิน

ระเบิดคำเดียวป่วน ‘ไทยสมายล์’ เที่ยวบิน WE 136-137 ดีเลย์ กระจาย

ข่าวผู้โดยสารสายการบินไทยสมายล์ ต้องตกค้างอยู่ที่สนามบินข้ามคืน หลังจากเที่ยวบิน กรุงเทพ-เชียงราย-กรุงเทพ เที่ยวบิน WE 136 และ WE 137 ต้องปั่นป่วน เหตุผู้โดยสารแจ้งลูกเรือบนเครื่องระบุมีระเบิด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำตามขั้นตอนการรักษาความปลอดภัย…

‘เพียงคำเดียวเท่านั้น “ระเบิด” ปากพาจน’

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2560 มีผู้โดยสารที่เป็นกลุ่มเยาวชน 4 คน ถือของพะรุงพะรังขึ้นเครื่องบิน เมื่อลูกเรือสอบถามเลขที่นั่งกับวัยรุ่นคนนี้ก็บอกว่า “ตั๋วโดยสารอยู่ในกระเป๋าเสื้อแจ็คเกต” พนักงานก็ช่วยล้วงเอาตั๋วให้ แต่วัยรุ่นคนดังกล่าวเกิดอุตริบอกว่า “ระวังด้วยมีระเบิด”

ทำให้ลูกเรือต้องแจ้งไปยังกัปตัน (ผู้มีอำนาจสูงสุดในเครื่อง) และทางกัปตันก็แจ้งยกเลิกเที่ยวบิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินต้องปฏิบัติตามกฎนิรภัยการบิน และรักษาความปลอดภัย ให้ผู้โดยสารลงจากเครื่อง และตรวจค้นสัมภาระด้านล่างใต้ท้องเครื่อง และบนหิ้งสัมภาระในเครื่อง เพื่อหาวัตถุต้องสงสัย สร้างความโกลาหลกับผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ ทำให้เสียเวลาหลายชั่วโมง จากเดิมที่ต้องออกในเวลา 18.45 น. ต้องล่าช้าเป็น 23.20 น. ผนวกกับปัญหาการซ่อมรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้เครื่องบินต้องรอคิวเทคออฟเสียเวลาไปอีกพอสมควร ส่วนวัยรุ่นคนดังกล่าวถูกนำตัวไปสอบสวนที่ สน.สุวรรณภูมิ และรอผู้ปกครองมารับในวันถัดไป

จากข่าวนี้ทำให้เห็นว่า “คนไทยจำนวนมากยังไม่ทราบถึงกฎนิรภัยการบิน ที่เป็นสากลบังคับใช้กันทั่วโลก” ประเทศไทยเรามีกฎหมายไทยบังคับในเรื่องนี้ “การแจ้งข้อความ หรือส่งข่าวสาร ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ แต่การนั้นเป็นผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยาน หรือผู้ที่อยู่ในอากาศยานระหว่างบิน ตื่นตกใจ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

กรณีตัวอย่างเมื่อปลายปี 2558 ชายหนุ่มคนหนึ่งบอกพนักงานต้อนรับบนเครื่อง ขณะจะปิดช่องเก็บของเหนือศรีษะว่า “ระวังหน่อย ในกระเป๋ามีระเบิด” ก็โดนจำคุกและค่าปรับไปเป็นแสน แถมยังถูกสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ในการทำให้ไฟลท์ดีเลย์ไป 4 ชั่วโมงๆ ละ 200,000 บาท อ่วมกันไปเลยเพราะปากพล่อยแท้ๆ

ก็ระวังกันไว้นะครับ (อ่านกฎหมายชัดๆ ที่นี่) คราวนี้มาดูกันว่า ถ้าจะเดินทางด้วยเครื่องบินท่านควรจะรู้อะไรบ้าง

  1. ชื่อในการจองตั๋ว
    • ถ้าผู้โดยสารเดินทางภายในประเทศ อันนี้แล้วแต่ท่านเลยว่า จะสะกดชื่อตามหน้าพาสปอร์ต หรือบัตรประชาชน (ในกรณีที่ในพาสปอร์ตและบัตรประชาชนสะกดไม่เหมือนกัน เช่นคำว่า พล ในบัตรประชาชนอาจจะเขียนว่า pon แต่ในพาสปอร์ตเขียนว่า phon บางคนก็ pol) แต่เมื่อคุณมาหน้าเค้าเตอร์เพื่อเช็คอิน กรุณาแสดงบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต ที่สะกดชื่อตรงกับในใบจองตั๋ว ง่ายๆ คือถ้าตอนจองตั๋ว คุณใช้ตัวสะกดตามพาสปอร์ตก็ให้แสดงพาสปอร์ต ถ้าตามบัตรประชาชนก็ให้แสดงบัตรประชาชน (บางสายการบินจะอนุโลมการสะกดผิดที่สามารถออกเสียงเหมือนกัน แต่บางสายการบินก็ไม่ให้ และจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนชื่อผู้โดยสารในตั๋วด้วย)
    • หากผู้โดยสารเดินทางระหว่างประเทศ จะต้องใช้ชื่อสะกดตามพาสปอร์ตเท่านั้น ห้ามมีการสะกดผิดแม้แต่ตัวเดียว ในกรณีเป็นสามี-ภรรยา หรือคนในครอบครัวเดียวกัน นามสกุลควรจะสะกดให้เหมือนกัน เพราะเคยมีกรณีไปเที่ยวในบางประเทศที่เขาค่อนข้างเคร่งครัด อาจจะผ่านตรวจคนเข้าเมืองไม่ได้ โดนกักตัว โดยเฉพาะคุณผู้หญิงอาจถูกกล่าวหาว่า เข้าประเทศเพื่อหลบหนีไปทำงานได้
  2. บัตรข้าราชการ ผู้โดยสารหลายท่านมักจะแสดงบัตรข้าราชการ แทนการแสดงบัตรประชาชน ซึ่งจริงๆ ไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากบัตรข้าราชการ (ทั่วไป) ไม่มีตัวสะกดภาษาอังกฤษ (ยกเว้น บัตรข้าราชการทหาร) บางสายการบินก็เช็คอินให้ เพราะอ่านแล้วตรงกับชื่อภาษาอังกฤษ แต่ที่ดีควรแสดงบัตรที่มีชื่อภาษาอังกฤษจะดีกว่า ถ้าลืมบัตรประชาชนก็สามารถแสดงใบขับขี่แทนได้
  3. เด็กทารกต้องมีใบสูติบัตร (หรือพาสปอร์ต) แสดงด้วยเสมอ รวมถึงเด็กที่ยังไม่มีบัตรประชาชน สามารถใช้บัตรนักเรียนของทางโรงเรียนได้ (ปล. ถ้าเป็นเส้นทางลงภาคใต้ จะต้องใช้เอกสารตัวจริงเท่านั้น ห้ามใช้ใบถ่ายเอกสาร หรือโชว์รูปภาพในโทรศัพท์มือถือ แต่เส้นทางอื่นๆ ก็แล้วแต่การพิจารณาของทางสายการบิน ซึ่งทางที่ดีก็ควรใช้บัตร/เอกสารตัวจริงนั่นแหละ)
  4. พาวเวอร์แบงค์ ถือขึ้นเครื่อง “เท่านั้น” อันนี้ตอนเช็คอินพนักงานก็จะถามอยู่แล้วว่า มีพาวเวอร์แบงค์ โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ในกระเป๋าที่จะโหลดใต้ท้องเครื่องหรือไม่ รวมถึงสิ่งของมีค่า แตกหักง่าย ถ้าหากมีในกระเป๋าโหลดกรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วย (อันนี้หลายคนงงว่า ทำไมถือขึ้นเครื่องได้ แต่โหลดใต้เครื่องไม่ได้ อธิบายเป็นภาษาง่ายๆ เลยก็คือ กันมันระเบิดนั่นเอง ลองคิดดูว่าถ้าเกิดโหลดไว้ใต้ท้องเครื่อง แล้วเกิดประกายไฟขึ้นมา จะไม่มีใครรู้เลย อาจจะเกิดไฟลุกไหม้และลามไปยังส่วนต่างๆ ของเครื่องบิน แต่ถ้าถือขึ้นเครื่อง เมื่อเกิดประกายไฟหรือการระเบิดขึ้น เจ้าของหรือพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะได้ช่วยระงับได้ทัน)

  5. มาเช็คอินทัน ไม่ได้แปลว่าเครื่องจะรอ เวลาเครื่องออก ไม่ใช่เวลาประตูเครื่องปิด อันนี้เจอมาหลายเคส ผู้โดยสารมาเช็คอินทัน แต่ไปขึ้นเครื่องไม่ทัน เนื่องจากไปเตร็จเตร่ช็อปปิ้ง หรือชมอาคารสถานที่ในสนามบิน จนโดนออฟโหลดกระเป๋า ไปไม่ได้แล้วคอมเพลนสายการบิน อันนี้ขอยกตัวอย่างง่ายๆ
    ใน Boarding Pass จะแสดงเวลาที่จะเริ่มเรียกขึ้นเครื่อง ซึ่งจะใช้คำว่า Boarding Time อาจจะเป็นครึ่งชั่วโมงก่อนเวลาเครื่องออก หรือกี่นาทีก็แล้วแต่ละสายการบิน ยกตัวอย่างเช่น เที่ยวบินไปเชียงใหม่ตอน 08:00 Boarding Time 07:30 นั่นหมายความว่า ผู้โดยสารจะเริ่มขึ้นเครื่องได้ตอน 07:30 แต่ไม่ได้หมายความว่าขึ้นได้จนถึง 08:00 ส่วนใหญ่สายการบินจะปิดประตูเครื่อง 5-10 นาทีก่อนเวลาเครื่องออก นั่นแปลว่า เที่ยวบินรอบ 08:00 ประตูเครื่องจะปิดประมาณ 07:50-07:55 ถ้าผู้โดยสารไปถึงเกทตอน 08:00 แล้วทางสายการบินไม่รับขึ้นเครื่อง จะไม่ถือว่าเป็นความผิดสายการบิน
    (บางคนไม่เข้าใจว่าทำไมไม่รับ อันนี้จะขออธิบายคร่าวๆ นะครับ เมื่อประตูเครื่องปิดแล้ว ไม่ใช่ว่าเครื่องจะสามารถถอยออกจากงวงช้าง และ take off ได้เลยในทันที ดังนั้นถ้ารอผู้โดยสารจนถึง 08:00 กว่าผู้โดยสารจะนั่งที่เรียบร้อย กว่าประตูเครื่องจะปิด อาจจะใช้เวลานาน เช่น ถ้าผู้โดยสารมาถึง 08:00 รอผู้โดยสารเดินขึ้นเครื่อง เก็บกระเป๋า นั่งที่นั่ง อาจจะเป็นเวลา 08:10 ซึ่งก็ดีเลย์มาแล้ว 10 นาที และต้องรอถอย+รอเวลา take off อีก อาจจะต้องรอไปอีกประมาณ 10-15 นาที ก็ยิ่งช้าเข้าไปใหญ่ เมื่อเครื่องขาไปดีเลย์ก็อาจจะทำให้ขากลับดีเลย์กลับมาด้วย มันเป็นลูกโซ่กันไปหมด)
  6. เที่ยวบินดีเลย์ แต่เวลาปิดเค้าเตอร์เช็คอินเท่าเดิมนะจ๊ะ อันนี้ส่วนใหญ่จะเจอเป็นผู้โดยสารเดินทางหลายท่าน ส่วนหนึ่งเช็คอินเข้าไปรอที่เกทแล้ว และพบว่าเครื่องดีเลย์ อีกส่วนเพิ่งมาถึงหน้าเค้าเตอร์เช็คอิน (แต่เคาท์เตอร์ปิดไปแล้ว) พอโทรหาเพื่อนข้างในแล้วพบว่า “เห้ย แก ตอนนี้เครื่องดีเลย์ เครื่องยังไม่ออกเลย บลาๆ” ผู้โดยสารหน้าเค้าเตอร์ก็เริ่มโวยวายว่า เครื่องคุณดีเลย์ ทำไมคุณไม่รับเช็คอิน บลาๆ… อันนี้แล้วแต่ดุลยพินิจของสายการบินเลยครับ บางทีถ้ามีคุณคนเดียวไม่มีกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่อง สายการบินก็อาจจะรับเช็คอิน แค่อาจจะนะครับ แต่ถ้ามาแล้วมีกระเป๋าโหลด บอกเลยว่าส่วนใหญ่ไม่รับครับ หรืออาจจะรับแต่กระเป๋าคุณอาจจะไม่ได้ไปกับเที่ยวบินนี้ (อันนี้ทางสายการบินจะแจ้งเอง) เพราะว่ากว่าจะโหลดกระเป๋าลงสายพาน ผ่าน x-ray ของการท่าด้านใน (คือพอเราโหลดกระเป๋าไปแล้วมันมี process เยอะมากก่อนที่กระเป๋าจะไปถึงเครื่องได้) รวมถึงเรื่องน้ำหนัก เพราะว่าเครื่องบินจะต้องคำนวณน้ำหนักในการ take off, landing อีกมากมาย รวมถึงปริมาณการเติมน้ำมันในแต่ละเที่ยวบิน เมื่อน้ำหนักเครื่องเปลี่ยน ก็จะต้องคำนวณใหม่ (อ่านเพิ่มเติมจาก “ตกเครื่องเรื่องใหญ่”)
  7. ขอที่นั่งที่ข้างๆ ไม่มีคนนั่ง??? คนส่วนใหญ่ไม่ชอบที่จะนั่งใกล้กับบุคคลที่เราไม่รู้จักอยู่แล้ว แต่ในเมื่อคุณซื้อตั๋วมาแค่ที่นั่งเดียว คุณต้องยอมรับในจุดนั้นว่าข้างๆ อาจจะต้องมีคนมานั่ง เวลาเจอผู้โดยสารขอแบบนี้ ก็จะให้ที่นั่งที่ในตอนนั้นด้านข้างไม่มีคนนั่ง แต่ก็ไม่สามารถรับปากได้ว่า ต่อไปจะไม่มีคนมานั่ง เราไม่มีสิทธิ์บล็อกที่นั่งด้านข้างให้ผู้โดยสาร แต่ถ้าอยากให้ที่นั่งด้านข้างว่างจริงๆ แนะนำซื้อ 2 ที่นั่ง แล้วเดินทางคนเดียว อันนี้รับรองว่าด้านข้างว่างแน่นอน (ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติพวกแบกเป้เที่ยวที่ทำแบบนี้)
  8. น้ำหนักกระเป๋าเกิน ลดหน่อยได้ไหม *O* ผู้โดยสารหลายคนมักจะไม่อ่านรายละเอียดตั๋วให้ดี บางสายการบินให้ 15 กิโล บางที่ 20, 30 ก็ว่ากันไป บางทีในตั๋วแสดงรายละเอียดชัดเจนแล้วว่า ได้น้ำหนักกระเป๋าโหลด 20 kg. พอมาชั่งน้ำหนักเป็น 25 kg. เมื่อแจ้งว่าน้ำหนักเกิน 5 kg. ต้องจ่ายเงิน ก็จะเริ่มอิดออด ลดหน่อยได้ไหมคะ ครั้งหน้าค่อยจ่าย คนไทยช่วยมีน้ำใจหน่อย อันนี้บอกเลยนะครับว่า พนักงานเช็คอินไม่สามารถตัดสินใจในส่วนนี้ได้เลย ทางแก้ไขที่เราแนะนำให้ผู้โดยสารคือ นำของในกระเป๋าโหลดมาถือขึ้นเครื่องแทนครับ แต่ต้องไม่มีของเหลว เจล สเปรย์ ของมีคม หรือของที่ห้ามถือขึ้นเครื่อง เราจะแนะนำให้เอาออกจนน้ำหนักกระเป๋าเหลือประมาณ 22-23 kg. อันนี้จะพออนุโลมไม่เก็บค่าน้ำหนักเกินได้ครับ (ถ้าเป็นชาวต่างชาติ เขาจะโอเคกับการจ่ายค่าน้ำหนัก เพราะเขาคิดว่าเขาผิดเอง แต่ส่วนใหญ่ชาวต่างชาติจะชั่งน้ำหนักกระเป๋าของตัวเองมาก่อนแล้ว พอมาถึงเค้าเตอร์เช็คอินเขาจะบอกเองเลยว่า กระเป๋าฉันน้ำหนักเกินนะ ต้องจ่ายเท่าไหร่) ดังนั้นแนะนำให้ผู้โดยสารอ่านรายละเอียดตั๋วของตนเองอย่างละเอียดว่า ได้น้ำหนักเท่าไหร่ พอจัดกระเป๋าเสร็จก็ลองชั่งดูว่าเกินไหม จะได้ไม่ต้องไปจัดใหม่ที่หน้าเค้าเตอร์หรือจ่ายค่าน้ำหนักเกิน
  9. ตอนเช็คอินบอกที่นั่งด้านหน้าเต็ม แต่ขึ้นเครื่องไปข้างหน้าว่าง ไม่มีคนนั่ง??? อันนี้น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ทำไมตอนขอที่นั่งด้านหน้าพนักงานมักจะบอกว่า ตอนนี้ไม่มีที่นั่งด้านหน้าแล้ว แต่พอขึ้นเครื่องไป ที่นั่งด้านหน้าไม่มีใครนั่ง? อันนี้จริงๆ สายการบินจะต้องกันที่นั่งโซนด้านหน้าไว้ให้สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษครับ ยกตัวอย่างเช่น ผู้โดยสารที่ต้องใช้รถเข็น (Wheel chair) ให้นั่งแถวหลังก็คงไม่สะดวก ผู้โดยสารที่เดินทางกับเด็กเล็ก หรือ พระภิกษุ ถ้าหากว่าเราให้ที่นั่งด้านหน้ากับผู้โดยสารทั่วไปจนหมด เมื่อมีผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษมา และไม่มีที่นั่งด้านหน้าให้เค้า จะทำให้ค่อนข้างวุ่นวายมาก เพราะผู้โดยสารที่ต้องการรถเข็นบางท่านเดินไม่ได้เลย ถ้าได้ที่นั่งหลังๆ ก็ค่อนข้างจะลำบากในการเคลื่อนย้ายไปยังที่นั่ง และที่สำคัญคือ ที่ต้องให้ผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั่งด้านหน้าเพราะจะได้ใกล้กับลูกเรือ สามารถดูแลได้ง่ายครับ หรือบางครั้งก็คือที่นั่งด้านหน้ามีผู้โดยสารจองที่นั่งมาแล้ว แต่พอถึงเวลาจริงๆ ผู้โดยสารท่านนั้นไม่เดินทาง กลายเป็น No Show เลยทำให้ที่นั่งตรงนั้นว่างก็เป็นได้
  10. ผ่าตัด หรือ ทำศัลยกรรม ต้องมีใบรับรองแพทย์ ถ้าผู้โดยสารผ่าตัดหรือศัลยกรรมมาจะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ระบุมาว่า สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ (ในกรณีที่แผลยังไม่หาย หรือเพิ่งไปทำมาสดๆ ร้อนๆ ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ เช่น จมูกยังบวมอยู่ ตายังมีรอยคล้ำ เลือดยังไหล) แต่แนะนำว่าให้โทรสอบถามสายการบินที่เดินทางโดยตรงเลยจะดีกว่า เพราะแต่ละสายการบินมีการตัดสินใจไม่เหมือนกันนะครับ
    มีกรณีศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ผู้โดยสารมีอาการผิดปรกติจากระดับน้ำในหู ใช้บริการเครื่องบินแล้วถูกระงับ (มีผลต่อการทรงตัวอาจเกิดการอาเจียน ปวดศรีษะ เมาได้) แม้ตามข่าวแจ้งว่ามีใบรับรองแพทย์ แต่เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งผู้โดยสารและสายการบิน ผู้โดยสารจะต้องลงนามในเอกสารยืนยันด้วยว่า หากมีอันตรายเกิดขึ้นกับตัวท่าน จะต้องไม่กล่าวหาสายการบินว่าไม่ปลอดภัย เมื่อไม่ยอมลงนามกัปตันผู้รับผิดชอบในเที่ยวบิน ก็มีสิทธิไม่อนุญาตให้บินไปกับไฟลท์นี้ได้
  11. ทำไมต้องนั่งที่นั่งของตัวเองเวลา Take off หรือ Landing บางคนสงสัยว่าเมื่อขึ้นเครื่องไปแล้วที่นั่งว่างตั้งหลายที่ ทำไมต้องให้เรานั่งในที่ตามบัตรโดยสารก่อน และสามารถย้ายที่ได้หลังจาก Take off เสร็จแล้ว แต่เมื่อใกล้เวลา Landing จะต้องย้ายกลับไปนั่งที่เดิม อันนี้จะเกี่ยวกับเรื่องสมดุลของเครื่องบินครับ เนื่องจากเวลาเครื่องบิน Take off, Landing จะต้องใช้น้ำหนักในโซนที่นั่งของเครื่องบินในการคำนวณด้วย เช่น โซนด้านหน้าหนักเท่านี้ ตรงกลางเท่านี้ ด้านหลังเท่านี้ ถ้าผู้โดยสารย้ายที่ น้ำหนักของแต่ละโซนจะเปลี่ยนไป อาจจะทำให้เครื่องไม่สามารถขึ้นได้ หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกว่านั้นครับ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมเวลามีที่นั่งว่าง แต่สายการบินกระจายผู้โดยสารให้นั่งทั่วทั้งลำ ไม่เทมาที่แถวหน้าๆ ทั้งหมด นั่นเพราะว่าถ้าผู้โดยสารทั้งลำมานั่งที่นั่งด้านหน้าทั้งหมด จะทำให้เครื่องบินหนักหน้า ไม่สามารถขึ้นบินได้ (อันนี้เป็นการอธิบายง่ายๆ ให้พอเข้าใจเห็นภาพนะครับ)
  12. เพิ่มเติมเรื่อง “ระเบิด” อย่างเหตุการณ์ล่าสุดเลยที่เกิดขึ้น แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่อยากบอกทุกคนว่าคำว่า “ระเบิด” หรืออะไรก็ตามที่ดูเป็นภัยนั้น sensitive ต่อสายการบินมากๆ ครับ ดังนั้นขอความร่วมมือทุกท่านอย่าพูดเล่นเรื่องแบบนี้กันนะครับ มีลูกบอกลูก มีหลานบอกหลาน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ทุกคนได้รับความเสียหายทั้งหมด ทุกอย่างต้องเริ่มกระบวนการนับ 1 กันใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่สแกนตัวผู้โดยสารใหม่ สแกนกระเป๋าใหม่ รวมทั้งอาหารก็ต้องนำไปเช็ค ทั้งเครื่องบินก็ต้องนำไปตรวจอย่างละเอียด (บางครั้งต้องเปลี่ยนเครื่องบินลำใหม่) รวมไปถึงกัปตันและลูกเรือ ต้องเปลี่ยนชุดใหม่ทั้งหมด เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องขอสอบปากคำทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จริงๆ รายละเอียดมันเยอะมากๆ แม้จะเป็นเด็กแต่สายการบินก็ไม่มองว่าพูดเล่นครับ จะมาอ้าง “รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้” เพราะถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เครื่องอยู่กลางอากาศ ไม่มีใครสามารถช่วยได้เลย ตายยกลำได้ (อ่านเพิ่มเติมเลยครับ)

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)