99/169 Sarin7 UBN 34190 081 878 3521 This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Everyday : 09:00am-05:00pm
"ครูที่ดีย่อมไม่ฆ่าเวลาศิษย์  สำนึกผิดทิ้งเด็กไว้มิได้สอน  หนึ่งนาทีนั้นมีค่าอย่าตัดรอน  เมื่อศิษย์อ่อนจะโทษใครให้คิดดู"   มล.ปิ่น มาลากุล

ปฏิรูปการศึกษากันจริงเสียที

ปฏิรูปการศึกษา หรือจะ ปะ-ติ-ลูบ-คลำ กันต่อไป

ในต้นปี 2025 นี้มีคนบอกว่า จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการศึกษา เทคโนโลยีใหม่ๆ และแนวคิดการเรียนรู้ที่ทันสมัยจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ มาดูกันว่าอะไรคือแนวโน้มหลักที่ต้องจับตามอง!

childrens day slogan

  • การเกิดขึ้นของโรงเรียนรูปแบบใหม่ Hybrid Learning, Microschools และ Homeschool กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น
  • การใช้ AI ในการศึกษาอย่างแพร่หลาย ช่วยพัฒนาทักษะผู้เรียนและลดภาระงานครู
  • การสนับสนุนครู เน้นพัฒนาวิชาชีพครูและสร้างสมดุลการทำงาน
  • การสร้างวัฒนธรรมโรงเรียนเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครองด้วยกิจกรรมและเทคโนโลยี
  • การออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองทุกคน Universal Design for Learning (UDL) ช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ได้ตามความต้องการ

1. โรงเรียนรูปแบบใหม่

new schoolโรงเรียนรูปแบบใหม่ Hybrid Learning, Microschools และ Homeschool แต่ละรูปแบบมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป แต่ล้วนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ปกครอง และนักเรียนที่ต้องการความยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคลมากขึ้น

Hybrid Learning (การเรียนรู้แบบผสมผสาน) : เป็นการเรียนรู้ที่ผสมผสานระหว่างการเรียนในห้องเรียน (on-site) และการเรียนออนไลน์ (online) โดยอาจมีการเรียนในห้องเรียนบางวัน และเรียนออนไลน์ในบางวัน หรืออาจเรียนแบบผสมผสานในคาบเรียนเดียวกัน ซึ่งมีข้อดี คือช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้หลากหลาย มีความยืดหยุ่นในการจัดการเวลาเรียน และสามารถปรับการเรียนให้เหมาะสมกับความสามารถและความสนใจของแต่ละบุคคลได้ แต่ก็มีข้อเสีย คืออาจต้องอาศัยความรับผิดชอบและความมีวินัยของนักเรียนในการจัดการเวลาเรียนด้วยตนเอง และอาจต้องมีการลงทุนในอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการเรียนออนไลน์

Microschools (โรงเรียนขนาดเล็ก) : เป็นรูปแบบโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก มีนักเรียนจำนวนจำกัด มักมีลักษณะเป็นชุมชนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ มีข้อดี คือช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นกันเองและอบอุ่น มีความใกล้ชิดระหว่างครูและนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น และสามารถปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความสนใจ และความต้องการของนักเรียนแต่ละคนได้ แต่ก็มีข้อเสีย คืออาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าโรงเรียนทั่วไป และอาจมีข้อจำกัดในด้านทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก 

Homeschool (การเรียนที่บ้าน) : เป็นการจัดการศึกษาที่ผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนให้กับบุตรหลานที่บ้าน โดยอาจมีการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือร่วมกับผู้สอนภายนอก มีข้อดี คือผู้ปกครองสามารถควบคุมเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ได้ตามความเหมาะสมของบุตรหลาน มีความยืดหยุ่นในการจัดการเวลาเรียน และสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ใกล้ชิดกับครอบครัวได้ แน่นอนว่ามีข้อเสีย คือผู้ปกครองต้องมีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนการสอน อาจต้องใช้เวลาและความทุ่มเทในการเตรียมการเรียนการสอน และอาจมีข้อจำกัดในด้านสังคมและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน

Hybrid homeschool

จึงมีผู้นำรูปแบบเหล่านี้มาผสมผสานกันใหม่ เพื่อเสริมข้อดีและกำจัดจุดอ่อนข้อเสียให้น้อยลง กลายมาเป็น

Hybrid Homeschool (การเรียนแบบผสมผสานที่บ้าน) : เป็นการผสมผสานระหว่าง Homeschool และ Hybrid Learning โดยอาจมีการเรียนที่บ้านควบคู่กับการเรียนในโรงเรียนหรือเรียนออนไลน์ ซึ่งมีข้อดี คือช่วยลดความกังวลของผู้ปกครองลงได้มาก ในการจัดการเรียนการสอนด้วยตนเองทั้งหมด และยังคงเปิดโอกาสให้บุตรหลานได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และครูที่โรงเรียนได้ แต่ก็ยังมีข้อเสีย คืออาจต้องมีการประสานงานระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการเรียนแบบใดแบบหนึ่ง

2. AI ช่วยให้การศึกษาก้าวหน้า

ai educateการใช้ AI ในการศึกษา เป็นที่นิยมแพร่หลายในทั่วโลก ประเทศไทยก็ควรเร่งรีบวางแผนกำหนดแนวปฏิบัติให้ชัดเจนในการนำเอา AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในวงการศึกษาให้ถูกต้องชัดเจน เป็นไปในทางสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์เพื่อการศึกษาอย่างแท้จริงทั้ง

  • การใช้ AI เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนและการทำงานของนักเรียน
  • การใช้ AI ในการบริหารจัดการ เพื่อช่วยลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนของครู

สิ่งสำคัญคือ ต้องอย่าให้เด็กนักเรียนและครู เสพติดการพึ่งพา Generative AI จนทำอะไรเองไม่เป็น คิดเองไม่เป็น เอะอะก็จะไปถามหรือไปให้ Generative AI ทำให้เจ้า AI มันควรจะอยู่ในฐานะ เครื่องมืออำนวยความสะดวก แบบเครื่องคิดเลขมากกว่า อะไรที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ Generative AI ก็คือไม่ควรให้ใช้ เช่น หากต้องการให้เด็กๆ มีทักษะด้านภาษา ก็ยังต้องให้เขาเรียนภาษาอยู่ดี ไม่ใช่ให้เอามาช่วยตรวจไวยากรณ์ก่อนส่งการบ้านครู หรือมาช่วยเขียน อะไรแบบนี้ แต่ Generative AI จะเข้ามาช่วยในฐานะเครื่องมือ เช่น ใช้พวก Custom GPT มาเป็นตัวช่วยในการเป็น เพื่อนคุย ให้เด็กๆ ได้ฝึกภาษา คุณครูใช้ Generative AI ในการช่วยออกแบบการเรียนการสอน ข้อสอบ หรือแม้แต่ใช้เครื่องมือ AI อื่นๆ ในการช่วยตรวจการบ้าน ข้อสอบ เพื่อให้มีเวลาเอาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น เป็นต้น

AI education in 2025

ความพร้อมของผู้สอนและตัวนักเรียนเอง

อันนี้ต่างหากที่สำคัญ เพราะถ้าผู้สอนไม่เข้าใจ ตัวนักเรียนเองก็จะมีปัญหา ปัญหานี้แก้ไม่ได้ง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องของคุณภาพของบุคคลากรทางการศึกษา ที่หากเป็นพวกโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนนานาชาติ ที่เขาทุนหนาอยู่แล้ว ทั้งตัวโรงเรียนและตัวนักเรียนที่มาเรียนนี่อาจจะไม่ต้องห่วงมาก แต่ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐบาลแบบที่หลายๆ ท่านกำลังทำงานกันอยู่นี่ บอกเลยมันเป็นเหมือนสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชนเท่านั้นจริงๆ นะ ทำใจได้เลยว่าการสนับสนุนอันแข็งขันจากภาครัฐนั้นง่อยเปลี้ยเสียขามาก เมื่อกระทรวงศึกษาไม่เริ่มวางมาตรฐานให้ชัดเจน ก็นับวันรอแต่จะเละไปหน้าในเรื่องนี้เพราะ... ความก้าวหน้าด้าน AI ในวงการศึกษาจะกระจุก หรือกระจายเป็นหย่อมๆ ตามความสนใจของครูในละแวกนั้น ที่เหลือที่ยังเข้าไม่ถึงก็คงยังใช้ เลข คัด เลิก ต่อไป

ความเหลื่อมล้ำด้าน AI มันเกิดขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว เพราะมีบางคนบอกว่า ทรัพยากรเงินที่ด้อยกว่าก็คงได้ใช้แต่เวอร์ชั่นฟรี คงไม่มีได้ใช้เวอร์ชั่นพรีเมียม หรือพลัส อะไรทำนองนั้น ผมเห็นด้วยว่า จริง! แต่ก็ใช่ว่าคนที่ใช้ซอฟท์แวร์หรือแอพ AI เวอรชั่นฟรี จะใช้คุณสมบัติที่มีอยู่หมดทุกฟังก์ชั่นไม่ เหมือนคนใช้ Microsoft Excel กับคนที่ใช้ PowerBI อะ คือ ลำพังแค่ Excel เนี่ย เราก็ใช้ความสามารถมันแค่พื้นฐานเท่านั้นแทบไม่หมดแล้ว ยังมีสูตร ฟังก์ชั่นอีกเยอะที่ยังเข้าไม่ถึง ดังนั้นคนที่ใช้ PowerBI คือ คนที่ก้าวไปอีกขั้นเสมือนคนที่ใช้ AI Premium หรือ Plus นั่นแล ตัวอย่างแค่ Google Gemini for Education ที่เปิดให้สถาบันการศึกษาใช้งานได้ฟรีเนี่ย ใช้กันได้กี่มากน้อยกัน

3. การสนับสนุนครูเน้นวิชาชีพ

support teacherการพัฒนาวิชาชีพครู โดยมุ่งเน้นให้ครูสามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และพัฒนาการสอนให้มีประสิทธิภาพ เรื่องนี้คงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเสียใหม่แล้วล่ะ เปลี่ยนยังไงล่ะ? คงมีคนแอบนึกถามในใจแน่นอน ผมขอสรุปสั้นๆ ดังนี้

การฝึกอบรมต้องเปลี่ยนวิธีการจากการเกณฑ์ครูมานั่งฟังบรรยายทุกรูปแบบ ทั้งออนไลน์/ออฟไลน์ ต้องเน้นที่การอบรมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยๆ กระจายไปให้ถึงในระดับอำเภอ/จังหวัด ในช่วงปิดภาคเรียน สร้างบรรยากาศให้เสมือนห้องเรียนจริง

การส่งเสริมการสร้างสมดุลชีวิต ระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวของครู โดยพยายามสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้นและจัดการกับภาระงานที่มากเกินไป เรื่องนี้ใหญ่มาก มีปัญหามานาน แก้ยากเย็น ครูทั่วประเทศบ่นมากที่สุด แต่คนนอกวงการกลับคิดต่าง เช่น

เป็นครูนี่ดีนะมีวันปิดเทอมยาวนานแสนสบาย ได้เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง แต่บ่นกังจังว่า งานหนัก อะไรกันนักหนา รัฐบาลไหนเข้ามาก็บอกจะ 'แก้ปัญหาหนี้ครู' ครูเป็นหนี้ก็เพราะทำตัวหน้าใหญ่ละสิ บลาๆๆ...

ใครไม่อยู่ในวงวารการศึกษาไม่มีทางรู้ดอกนะ กอดๆๆๆ ครูทุกคนเลย ครูทำงานหนักและเสียสละมากมายในทุกวาระและโอกาส มีคำกล่าวว่า "ครู" นั้นเป็นทั้ง 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะวันหยุด ป่วย ไข้ ถ้ามีลูกศิษย์มีปัญหา มีทุกข์ ครูก็ยังพร้อมที่จะช่วยเหลือสุดกำลัง ยกตัวอย่างไม่ไกลตัวนักเช่น "รถราชการ" ครูนำมาใช้ส่วนตัว ผลคือ รับโทษทัณฑ์บ้างก็ให้ออกจากราชการ จำคุก ชดใช้เงินทอง แต่ "รถยนต์ส่วนตัวของครู" นั้นใช้ในราชการได้ไม่ผิด และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อุทิศตน เสียสละเป็นประโยชน์ต่อราชการ อ๊าย! ครูมนตรีพูดไม่หมดนี่ ใช้รถส่วนตัวก็เบิกจ่ายค่าน้ำมันได้ไม่ใช่หรือ?

rod luang

เข้าใจผิดอะไรไปหรือเปล่าน้อ โรงเรียนใหญ่ๆ มีงบประมาณมากในตัวจังหวัดหรืออำเภออาจมีโอกาสทำเรื่องเบิกได้ แต่ต้องเป็นกรณีมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น เช่น "สั่งให้นำนักเรียนไปร่วมกิจกรรม... ใดๆ ในต่างท้องที่ และมีเหตุที่ไม่สามารถใช้รถโรงเรียนหรือรถโดยสารประจำทางได้ (เช่น มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้มาก ต่อรถหลายทอด) จึงให้นำรถยนต์ส่วนตัวของ... หมายเลขทะเบียน... ไปราชการ" นอกนั้นหมดหวังแน่! อย่างบ้านครูที่อยู่ในอำเภอต้องเดินทางมาโรงเรียนด้วยรถยนต์ส่วนตัว ผอ. ก็เลยขอความร่วมมือรับเอาอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา จากร้านค้าในเมืองมาด้วย อันนี้เบิกไม่ได้ไม่ว่ากัน แต่อันนี้สิ บอกให้ไปรับปูนซีเมนต์ 3 กระสอบกับทราย 1 คิว พร้อมกระเบื้องปูพื้น 5 กล่อง มาซ่อมแซมพื้นอาคารเรียนนี่บ่อยๆ ก็ไม่ไหวนะ นี่ยังไม่นับที่ครูต้องซื้ออุปกรณ์มาตกแต่งห้องเรียนให้น่าเรียน ทำอุปกรณ์การเรียนการสอน ทั้งกระดาษ สี ริบบิ้น ฯลฯ ค่าเครื่องพิมพ์สี/หมึก แม้แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของครูอีกนะ มากมายครับที่คนนอกวงการไม่รู้

4. การสร้างวัฒนธรรมโรงเรียนเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

culteral relationการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครอง ผ่านกิจกรรมและการใช้เครืองมือสื่อสารในแบบต่างๆ ข้อนี้ เรียกได้ว่า "ครูไทย" ทำได้ดีเยี่ยมมากๆ ยืนหนึ่ง ตั้งแต่งานบุญประเพณีใดๆ ในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เราได้มีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอเป็นนิจ รวมทั้งการหางบประมาณมาซ่อมแซมอาคารเรียน ซื้อวัสดุอุปกรณ์การศึกษา ค่าอาหารกลางวัน ค่าจ้างครูอัตราจ้างที่ขาดแคลน ด้วยการทำบุญผ้าป่าการศึกษาทอดที่โรงเรียน จนท่านพระครูที่วัดไม่อยากมาเป็นประธานสงฆ์แล้วนะ ครูรู้ไหมว่าหลังคาโบสถ์ก็รั่วอยู่นะ? นี่คือความจริงที่มองเห็นและเป็นอยู่ ในชนบท ครูกับสังคมรอบข้างนั่นเป็นหนึ่งเดียวยากจะแยกออกจากกันได้ เว้นแต่ มีผู้บริหารที่บริหารไม่เป็น ไม่เคยอยู่ในโรงเรียน ไม่พบกับผู้ปกครองและชุมชน แม้จะเป็นส่วนน้อยแต่ก็เป็นส่วนที่สร้างปัญหามากที่สุด

การใช้สถานีการเรียนการสอนเคลื่อนที่ (Mobile Teaching Stations) เพื่อเข้าถึงนักเรียนและครูมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ และส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีในโรงเรียน เรื่องนี้ฝันไปหรือเปล่าหนอ? ไม่ใช่ครูเราไม่มีศักยภาพนะ แต่งบประมาณ นโยบายส่งเสริมจริงจังมันไม่มีอยู่จริงนะสิ สุดท้ายก็ไปลงที่ทรัพย์สินส่วนตัวของครู ซึ่งมันก็จะไปกระทบกับข้อ 3 ข้างบนนั่น รวมทั้งตอบปัหาประเด็น "ครูไทยทำไมเป็นหนี้" ให้ชัดเจนขึ้นด้วย

tod papa

5. การออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อทุกคน

design learningการออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองทุกคน Universal Design for Learning (UDL) ช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ได้ตามความต้องการ กำลังมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สำหรับนักเรียนทุกกลุ่ม เช่น การจัดทำ Sensory Spaces ในโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีพื้นที่ปลอดภัยและสบายใจ สำหรับการปรับสภาพอารมณ์และการเรียนรู้ และช่วยสร้างสมดุลทางจิตใจและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน เป็นต้น

ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อน UDL ไม่ได้หมายถึงการหา "วิธีการเดียวที่ใช้ได้กับทุกคน" แต่เป็นการออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อลดอุปสรรคที่มีและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนทุกคน โดยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ

  • การนำเสนอที่หลากหลาย (Multiple Means of Representation) : เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลและความรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การใช้ภาพประกอบ วิดีโอ เสียง หรือการบรรยาย

  • การกระทำและการแสดงออกที่หลากหลาย (Multiple Means of Action and Expression) : เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความรู้ความเข้าใจในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การเขียน การพูด การวาดภาพ หรือการใช้สื่อดิจิทัล

  • การมีส่วนร่วมที่หลากหลาย (Multiple Means of Engagement) : สร้างแรงจูงใจและความสนใจในการเรียนรู้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและมีความหมายสำหรับพวกเขา

UDL

ความท้าทายของการศึกษาไทยในช่วงที่ผ่านมา เกิดขึ้นทั้งในฝั่งผู้เรียน สถานศึกษา และระบบการศึกษา เมื่อผนวกกับปัจจัยภายนอกอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นดาบสองคมที่เปิดช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น ก็ยิ่งทำให้ภาพปัญหาต่างๆ ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน ครูไทยต้องปรับตัวแบบพลิกฝ่ามือจากการยืนหน้าชั้นเรียน เขียนกระดานดำ อธิบายเนื้อหา ชี้แนะโจทย์ปัญหาต่างๆ มาสู่การนั่งหน้ากล้องหัดใช้เทคโนโลยีที่เกลียดกลัวมากในอดีต ต้องหัดทำสื่อ ทำใบงาน ใบความรู้ในทุกระดับชั้นเพื่อส่งสาระความรู้ไปยังลูกศิษย์ที่ไม่ได้อยู่หน้าห้องเรียน มีความคุ้นเคยกับโลกดิจิทัลมากขึ้น วันนี้ ครูจึงต้องเอาความรู้และประสบการณ์ที่มีมา เพื่อใช้ผนวกในการจัดการเรียนรู้ให้มากยิ่งขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยยังประสบปัญหาด้านชีวิตความเป็นอยู่มากขึ้น มีผู้ปกครองที่ตกงานหรือมีงานที่มีรายได้ลดลง อันเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กส่วนหนึ่งต้องหลุดวงโคจรไปจากโรงเรียน จากความเปราะบางทางสถานะของครอบครัว ต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำงานหารายได้จุนเจือเพื่อความอยู่รอด

เมื่อผนวกกับอัตราการเกิดที่ลดลงจนประเทศไทยเข้าสู่สภาวะ ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ จำนวนผู้เรียนในสถานศึกษาลดลง โรงเรียนเอกชนหลายแห่งต้องปิดตัวไป ส่วนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลายแห่งก็มีจำนวนผู้เรียนลดน้อยลง จนต่ำกว่า 120 คนก็มีมาก กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดในเรื่อง จำนวนตำแหน่งผู้บริหารและครู ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรในสถานศึกษาตามมา

SEL in School

ปัจจุบัน โรงเรียนอาจต้องทำหน้าที่มากกว่าสถานศึกษาที่มุ่งสอนความรู้หรือทักษะ แต่อาจต้องทำหน้าที่เป็นสถานที่เติมเต็มความต้องการพื้นฐานเพื่อให้เยาวชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะต้องช่วยติดเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง ให้กับเด็กในหลายๆ ด้าน เช่น SEL (Social Emotional Learning) เป็นต้น ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ความแตกต่างของการเรียนรู้ และเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้น้อยลง (เช่น การใช้ AI เพื่อศึกษาความรู้เฉพาะทาง) เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

Lifelong Learning (เรียนรู้ตลอดชีวิต) ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการเรียนรู้ในระบบเท่านั้น คนที่ต้องการการเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือนอกวัยเรียนมีจำนวนมาก วัยทำงานและผู้สูงอายุล้วนต้องการการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อระบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไป คุณสมบัติ ‘ผู้สอน’ ควรจะเปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งออกแบบการสอนและการประเมินผล ให้สอดรับกับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่สำคัญคือ มีกลไกที่ช่วยให้บุคลากรรุ่นใหม่มีที่ทางอยู่ในระบบ ไม่ถูกเบียดบังหรือบีบคั้นให้ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยภาระอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่จัดการเรียนการสอน กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นๆ อยากได้ข้อมูลก็ลงมาเก็บเองได้ไหม อย่าใช้ให้ครูทำเกินหน้าที่ที่ล้นเสียจนไม่มีเวลาให้ครอบครัวตัวเองแล้ว ปิดเทอมหรือหยุดยาวอยากอยู่พร้อมหน้า แต่ ผอ. สั่งเรามีงานทอดผ้าป่านะ มีสารพัดเลือกตั้งนะที่ต้องไปเป็นกรรมการรับผิด (ล้วนๆ) 

บทส่งท้าย

นอกจากการจัดประสบการณ์ การพัฒนาการศึกษาในหัวข้อต่างๆ ที่ผ่านมาแล้ว ขอให้เราอย่าทอดทิ้งและเริ่มจริงจังกับ "การสอนภาษาที่ 2 หรือ 3 ให้กับผู้เรียน" อย่างจริงจังในทุกโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เคยสงสัยกันไหมว่า "ทำไมผู้ปกครองจำนวนมากจึงพยายามให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรนานาชาติกันมากขึ้น?" ทั้งๆ ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนที่สูงมาก

international school

เหตุผล คือ ผลิตผลจากโรงเรียนเหล่านี้ทำให้เด็กมีความสามารถในการสื่อสารที่คล่องแคล่ว ไม่เคอะเขินหรือขลาดกลัว มีเพื่อน มีคอนเน็กชั่นที่ดีในสังคม รวมทั้งโอกาสในการเรียนรู้ในโลกกว้างที่ก้าวหน้ามากในยุคปัจจุบัน เพราะการค้นหาความรู้ส่วนใหญ่เราจำเป็นต้องค้นหาจากฐานข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งมีอยู่มากมาย ปัจจุบัน โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเริ่มทยอยกันเปิด หลักสูตร EMI หรือ หลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสอน (English Medium Instruction) แล้วหลักสูตร EMI นี้คืออะไรกันแน่ ต่างจากหลักสูตรอินเตอร์อย่างไร

EMI ย่อมาจาก “English Medium Instruction” คือ การใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสอน หรือ การนำภาษาอังกฤษมาใช้เป็นภาษาหลักในการจัดการเรียนรู้เพื่อสอนวิชาต่างๆ ให้กับผู้เรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก (First language) เนื่องจากภาษาอังกฤษได้กลายมาเป็นภาษากลางในการสื่อสารของคนทั้งโลก (English as a lingua franca) และหลายๆ ประเทศก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองหรือภาษาที่สาม ทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสอนมากขึ้น ตัวอย่างของ EMI ในประเทศไทยที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ (English Program) หลักสูตรนานาชาติ (International Program) และหลักสูตรสองภาษา (Bilingual Program) นั่นเอง

เป้าหมายหลักของ EMI คือ เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาไทยในการศึกษาต่อระดับนานาชาติ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาวิชานั้นๆ เพื่อนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างโอกาสและความก้าวหน้าในการเรียนต่อหรือการประกอบอาชีพในอนาคต ถ้าจะให้จำแนกประเภทของ EMI ตามการใช้ภาษาในการสื่อสารตลอดหลักสูตร เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  • หลักสูตรที่ใช้เฉพาะภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอน (Full EMI) คือ หลักสูตรที่คุณครูหรืออาจารย์ใช้เฉพาะภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอนวิชาต่างๆ โดยจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับผู้เรียนในห้องเรียน ในการจัดการเรียนการสอนในแบบ Full EMI นี้จะใช้สื่อการเรียนการสอนและข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ ตัวอย่างของ Full EMI ในประเทศไทย ได้แก่ หลักสูตรนานาชาติในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย เช่น วิศวะอินเตอร์ หรือ แพทย์นานาชาติ เป็นต้น

  • หลักสูตรที่ใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยในการจัดการเรียนการสอน (Partial EMI) คือ หลักสูตรที่คุณครูหรืออาจารย์ใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยในการจัดการเรียนการ โดยคุณครูหรืออาจารย์จะสอนวิชาต่างๆ โดยใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งตัวอย่างของ Partial EMI ที่เราคุ้นเคยกันในประเทศไทยก็คือ หลักสูตร Mini EP หรือบางที่อาจจะใช้คำว่า MLP (Mini Language Program) โดยหลักสูตรเหล่านี้จะใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอนในบางวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ส่วนวิชาอื่นๆ จะยังคงใช้ภาษาไทยในการจัดการเรียนการสอน

international school 2

ซึ่งการใช้หลักสูตร EMI นี่จะแยกเป็น 3 ระดับ คือ

  • การที่คุณครูหรืออาจารย์ใช้ภาษาอังกฤษอย่างน้อย ร้อยละ 25 ของระยะเวลาสอนตลอดภาคการศึกษา และใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอนร้อยละ 75 ตลอดภาคการศึกษา การสอนที่ใช้ภาษาระดับนี้เรียกว่า แบบ Weak EMI สำหรับการป้อนเนื้อหา (Input) นั้นการใช้สื่อการเรียนการสอนและเอกสารประกอบการสอนต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษ
  • การที่คุณครูหรืออาจารย์ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยในสัดส่วนที่เท่ากันคือ ร้อยละ 50 ของระยะเวลาสอนตลอดภาคการศึกษา สำหรับการป้อนเนื้อหา (Input) สื่อการสอนและเอกสารต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษ และการเขียนรายงานหรือการนำเสนอหน้าชั้นเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเช่นกัน เรียกว่า แบบ Mild EMI
  • การที่คุณครูหรืออาจารย์ใช้ภาษาอักฤษอย่างน้อยร้อยละ 75 หรือมากกว่าของระยะเวลาสอนตลอดภาคการศึกษา และใช้ภาษาไทยสอนร้อยละ 25 หรือน้อยกว่าตลอดภาคการศึกษา สำหรับการป้อนเนื้อหา (Input) การใช้สื่อการสอนเอกสารต่างๆ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด การเขียนรายงาน หรือการนำเสนอหน้าเรียนเรียน จะต้องใช้ภาษาอังกฤษ กิจกรรมในห้องเรียนก็ควรเป็นงานที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง (hands-on tasks) และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน นอกจากนี้ในข้อสอบกลางภาคหรือปลายภาค ต้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เรียกว่า แบบ Strong EMI

ส่วนโรงเรียนจะใช้รูปแบบใดนั่นก็ขึ้นอยู่กับบุคลากรของโรงเรียนว่ามีความพร้อมขนาดไหน ผมว่าไม่ใช่เรื่องยากนะ เพราะมีคนเคยทำสำเร็จมาแล้ว และไม่ใช่โรงเรียนในเมืองที่มีโอกาสได้พบเจอชาวต่างชาติ หรือมีโอกาสได้สนทนากับชาวต่างชาติเลยนะ เพียงแต่เขาสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ใช้บ่อยๆ เน้นที่การสนทนาสื่อสารให้ได้ใจความ ไม่กลัวว่าจะไม่ถูกต้อง สำเนียงอย่างไรก็ได้ถ้าอีกฝ่ายเข้าใจและตอบโต้ได้ ที่โรงเรียนไทยเราผิดพลาดมากๆ ส่วนใหญ่มาจากไปเน้นให้ท่องจำคำศัพท์เยอะๆ แต่ไม่รู้จะเอาไปใช้ปะติดปะต่อกันอย่างไรนั่นเอง เน้นที่ไวยากรณ์ แทนที่จะเน้นที่การพูดและฟังก่อน เพื่อให้เข้าใจก่อนจะไปที่การเขียนและอ่านในที่สุด

"ครูวัตร" ครูดอยอินเตอร์ สอนภาษาอังกฤษเต็มระบบของแทร่

เป็นกำลังใจให้เพื่อนครูไทยได้ผ่านพ้นอุปสรรคทั้งปวงในปีที่ยากลำบากนี้

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้ : 11-07-2568

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
e mil
นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy