สวัสดีครับเพื่อนครูทั้งหลาย สวัสดีปีการศึกษาใหม่ 1/2562 ได้พบกับเพื่อนร่วมงานเก่าและใหม่ ทั้งที่ย้าย (เก่า) จากที่อื่นมาใหม่ที่โรงเรียนเรา และใหม่ถอดด้ามเพิ่งสลัดคราบนักศึกษาครูมาทำหน้าที่ครูเต็มตัวเสียที พี่เก่าที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์มามากกว่าก็ช่วยเป็นแรงผลักดันให้น้องๆ ได้ทำงานกันตามหน้าที่ เสียสละ และอดทน (เรื่องนี้มันจำเป็นมากจริงๆ เพราะงานอาชีพครูปัจจุบันนี้นั้นไม่ได้มีเพียงแต่หน้าที่การสอนอย่างเดียว มีอีกร้อยแปด พันเก้า ที่ต้องทำตามคำสั่งทั้งจากหน่วยงานตรงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) เดี๋ยวเจอแล้วจะเข้าใจเองนะ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คนครับ
เปิดเทอมใหม่ ปีการศึกษาใหม่ทีไร ก็จะมี "ดราม่าของการศึกษาไทย" ปรากฏให้เห็นเต็มจอสื่อทั้งวิทยุ-โทรทัศน์ แล้วก็มีวิวาทะกันด้วยความชอบที่แตกต่างกัน อ้างเมืองนอกเมืองนาทั้งๆ ที่ไม่เคยไปอยู่ ไปซึมซับวัฒนธรรมบ้านเมืองเขา รวมทั้งกฎระเบียบของเราก็บ้าบอเกินไปอ้างว่าเพื่อความประหยัด อนุรักษ์ถิ่นไทยแต่ค่าใช้จ่าบบรรลัยกันทุกปี วันนี้จะมาบ่นในทัศนะของผม จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้นะ "ประชาธิปไตยแล้วนี่ แต่ช่วยมีสติกันหน่อยเท่านั้นเอง" จริงไหมจ๊ะ...
เปิดเทอมใหม่สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานจบช่วงชั้น ก็จะพบปัญหาเรื่องหาที่เรียนใหม่กันเลย "โรงเรียนใกล้บ้านก็ว่างอยู่นะ ว่างขนาดมีข่าวจะยุบโรงเรียนเล็กกันเลยทีเดียว" แล้วทำไมไม่สนใจส่งลูกเรียน ก็จะมีคำตอบลอยๆ มาว่า "โรงเรียนไม่มีคุณภาพ ขาดครูสอน" มันใช่จริงๆ หรือไร โรงเรียนเล็กนักเรียนน้อยๆ ครูน่าจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดสอนตัวต่อตัว เอาใจใส่เป็นรายบุคคลไม่ใช่หรือ? ผมเห็นโรงเรียนประถมศึกษาเล็กๆ มากมายในข้อมูลบอกมีแต่ครูชำนาญการพิเศษ อาจารย์ 3 กันเยอะแยะในโรงเรียน แล้วทำไมถึงไม่มีคุณภาพล่ะ?
โรงเรียนในชุมชนของเรา ถ้ามันขาดแคลนโน่น นั่น นี่ ในการจะพัฒนาการศึกษา เราควรสนับสนุนช่วยเหลือกันใช่ไหมครับ การช่วยเหลืออันดับแรกคือ การทำให้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นด้วยการส่งบุตรหลานเราเข้าเรียน เพื่อให้ได้งบประมาณรายหัวมาสนับสนุนมากขึ้น มีอัตรากำลังครูมาเพิ่มเติมอีก นอกจากนั้นผู้ปกครองที่มีกำลังทรัพย์ก็อาจจะช่วยทางโรงเรียนได้ ไม่มีทรัพย์ก็ช่วยเหลือทางอื่น เช่น ร่วมการประชุมให้ความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน ออกแรงมาช่วยดูแลบุตรหลานในช่วงกิจกรรมต่างๆ มีอีกเยอะครับ แต่นี่มีเงินก็จะเอาไปให้โรงเรียนใหญ่ๆ ที่เขาพร้อมอยู่แล้วด้วยการฝาก ใช้อภิสิทธิชนกันแล้ว ก็มาบ่นกันอย่างโน้นอย่างนี้ ถามจริงมันความอยากของใครกันแน่เรื่องโรงเรียนดังนี่...
เรื่องเครื่องแต่งกายนี่ก็ประเด็นดราม่ากันได้ทุกปี ทั้งไม่อยากให้มีการแต่งเครื่องแบบ เอาที่สบายใจ ไม่เห็นจะทำให้ฉลาดขึ้น บลาๆๆ... เรียนเก่งขึ้นหรือไม่นี่ไม่ตอบเพราะไม่เกี่ยวกันจริง แต่... การสร้างระเบียบวินัย การทำให้ดูมีความน่ารักเหมาะสม ได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่ดีไม่ใช่เรื่องเสียหาย ขอย้ำว่า "ยังต้องมีเครื่องแบบนักเรียน" ครับ (อ่านเพิ่มเติมสักนิดก็ดี)
แต่ช่วยลดความหลากหลายรายวันในการแต่งตัวลงมาหน่อย ให้ได้ใช้ชุดนักเรียนให้คุ้มมากขึ้น "หยุดการหากิน หากำไรกับการขายชุดเครื่องแบบสารพัดอย่าง ด้วยการอ้างว่า อนุรักษ์ไทย ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกันเสียที" เพราะสินค้าท้องถิ่นนี่แหละมันแพงมากกว่าชุดนักเรียนธรรมดายิ่งนัก และในชีวิตชาวบ้านธรรมดามันก็ไม่ได้ใส่เสื้อผ้าชนิดนี้ในชีวิตประจำวันกันเลย (นโยบายบ้าใบ้จริงๆ) ที่ผมเห็นระเบียบในการแต่งกายของนักเรียนในรอบสัปดาห์แล้ว แทบจะร้องไห้แทนผู้ปกครองคือ วันศุกร์ นี่แหละ ถ้าเป็นผ้าไหมพื้นเมืองสุรินทร์นี่มีหนาวนะครับ
วันจันทร์ ชุดนักเรียน วันอังคาร ชุดพละศึกษา วันพุธ ชุดนักเรียน วันพฤหัสบดี ชุดกิจกรรมชุมนุม/ลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด วันศุกร์ ชุดผ้าพื้นเมือง "
เอาแต่พอดีเถอะครับ การแต่งชุดนักเรียนนั้นมีข้อดีหลายข้อที่มิอาจปฏิเสธได้เลยนะ เอามาเล่าพอสังเขป ดังนี้
ชุดนักเรียนใน สปป.ลาว เพื่อนบ้านเราก็ดูดีน่ารักนะ
นี่ก็ดราม่าหนักมากเหมือนกัน โดยเฉพาะบรรดาครูที่ลุแก่โทสะ ลุอำนาจ คิดว่าตนเองเหนือกว่า ต้องทำให้มันได้อาย กร้อนมันให้เป็นทางสี่แยกไปเลยพวกไม่ทำตามระเบียบนี่ ผมก็ไม่เห็นด้วยในการกระทำเช่นนี้
การตัดผมสั้นทั้งนักเรียนชาย-หญิงบ้านเรามันก็มีเหตุผลอยู่ครับ "ดูแลง่าย" เป็นหลัก ด้วยวัยที่มีควมกระฉับกระเฉงปราดเปรียว เล่นซุกซนตามประสา เหงื่อกับอากาศร้อนบ้านเราคือสาเหตุหลักที่การตัดผมสั้นดูแลง่าย สะอาดเป็นระเบียบไม่ยุ่งยาก สระผมสบัดให้แห้งก็ไปได้เลย เด็กหญิงหวีนิดหน่อยก็เรียบร้อยแล้ว ทำให้นึกถึงตอนเลี้ยงหลานเล็กๆ ไปเข้าอนุบาลแล้วไว้ผมยาวเพื่อให้น่ารักก็ต้องถักเปีย มัดผมให้สวยงาม วันไหนแม่บ้านไม่อยู่ผมต้องรับหน้าที่แต่งตัวให้หลานไปส่งโรงเรียนนี่ทะเลาะกันแต่เช้า ก็ตาถักเปียไม่เป็น ไม่สวย ไม่ติดกิ๊บให้ โอยสารพันครับ
เรื่องตัดผมให้นักเรียนนี่ ถ้า... โรงเรียนได้มีการตระเตรียมการสักหน่อยไม่ยากเลย ส่งครูชาย-หญิงไปเรียนวิชาชีพระยะสั้นที่โรงเรียนสารพัดช่าง หลักสูตรตัดผมทรงนักเรียนชาย-หญิง แค่ 7 วันเอง แล้วซื้อเครื่องมือเตรียมไว้ที่โรงเรียนสักชุดก็จะแก้ปัญหานี้ได้ง่ายดาย พอใจกันทุกฝ่ายด้วย นอกจากนั้นยังสามารถจัดกิจกรรมกลุ่มสนใจอาชีพให้กับนักเรียนได้ด้วยนะเออ เรียกว่าสำเร็จเป็นผลดีได้ 2 ทาง ทั้งถูกระเบียบ และสร้างอาชีพอีกด้วย ทำไมผู้บริหารโรงเรียนทั้งหลายมองไม่เห็นทางกันหนอ?
สุดท้าย แต่ไม่ใช่เรื่องท้ายสุดคือ ตำแหน่ง "ครูใหญ่" หรือ คญ. ที่ไม่มีใครอยากได้ อยากเป็น โอย... ขำมากๆ ครับ คือมีหลายคนบอกว่า "มันไม่เกี่ยวกับการพัฒนา ปฏิรูปการศึกษาเลย ชื่ออะไรก็ช่างมันเถอะ" อ้าว! แล้วทำไมค้านกันอึงมี่ล่ะครับ มันมีอะไรซ่อนอยู่หรือ?
คือผมเป็นครูรุ่นเก่าครับ ทันอยู่ในยุคมีตำแหน่ง ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ด้วยนั่นแหละ ผมบรรจุครั้งแรกในโรงเรียนประถมศึกษาชายแดนอีสาน โรงเรียนมีครู 3 คน ผู้บริหารเป็น "ครูใหญ่" ขี่มอเตอร์ไซค์ฮ้าง Susuki 70cc. มาโรงเรียนคลุกขี้โคลนทุกวัน เป็นทางเกวียนห่างบ้านแกในตำบล 20 กิโลเมตร ส่วนผมอาศัยอยู่ในบ้านพักครูหลังเล็กๆ กับครอบครัวครูน้อยอีกคนหนึ่งด้วยกัน ทำงานอยู่เดือนครึ่ง ก็มีประกาศผลการสอบครูกรมสามัญศึกษาออกมา ผมได้ไปบรรจุในโรงเรียนมัธยมศึกษาในอำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดอำนาจเจริญ) ก็เป็นโรงเรียนเล็กมีครูอยู่ 17 คน นักเรียนน่าจะยังไม่ถึง 600 คน ตำแหน่งผู้บริหารก็เป็น "ครูใหญ่" เหมือนกัน
โรงเรียนมีการพัฒนาขึ้นมานะครับ จากจำนวนนักเรียน 500-600 คนมาเป็นเกิน 800 คน ครูเพิ่มขึ้นเป็น 35 คน ผู้บริหารคนเดิมนั้นก็ได้เลื่อนเป็น "อาจารย์ใหญ่" ผมอยู่ที่นี่ 10 ปีเต็ม นักเรียนเพิ่มขึ้นเกิน 1200 คน ตำแหน่งผู้บริหารก็เปลี่ยนไปเป็น "ผู้อำนวยการโรงเรียน" ได้ นั่นคือแสดงถึงการพัฒนาทั้งทางด้านอาคารสถานที่ จำนวนนักเรียน ครู และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ทำให้ผู้ปกครองมั่นใจ ส่งลูกหลานเข้ามาเรียนมากขึ้น ลูกศิษย์ลูกหาหลายคนจบไปแล้วศึกษาต่อ ได้ดิบได้ดีกลับมาพัฒนาบ้านเมืองก็มาก มันแสดงให้เห็นอะไรหลายๆ อย่างอยู่นะครับ
ส่วนปัจจุบันนี้ โรงเรียนมีนักเรียน 40-50 คน ครู 3-5 คน อาจารย์ 3 เต็มโรงเรียน เด็กนักเรียนอ่าน-เขียนไม่ออกก็ได้เป็น "ผู้อำนวยการ" มันคงบอกอะไรได้มากสินะผมว่า เวลาประชุมในจังหวัดในห้องประชุมใหญ่ มีแต่ "ผ.อ." ทั้งนั้น ผมรู้สึกขิวๆ อยู่นะครับ (ภาษาอีสานคือ หมั่นไส้) เดินขวักไขว่สวนกัน จนพวกสาวเชียร์แขก เชียร์เบียร์ ว่าให้ลับหลังว่า "พวกผัวอีอ้อย (ผอ.) บ่มีหยังดอก เมาหน่อยก็ทิ้งเอกสารการประชุมไว้ในห้องอาบน้ำ" ฮ่าๆๆ ก็แล่นแต่นะครับ สวัสดี