foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

1st online 01

กลาหลอลหม่านกันตั้งแต่เช้าตรู่วันแรก 18 พฤษภาคม 2563 กับการเริ่มใช้วิธีการเรียนออนไลน์วันแรก หรือจะเรียกว่า "การเรียนผ่านสื่อครูตู้ ครูคอมพิวเตอร์พีซี ครูโน้ตบุ๊ค ครูแท็ปเล็ต ครูโทรศัพท์สมาร์ทโฟน" ของนักเรียนไทยทั่วประเทศ ในสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิท-19 หรือจะเรียกกันเท่ๆ ว่า "Covid-19-Learning" ก็คงจะได้กระมัง ผมคงไม่ต้องกล่าวซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเพราะมีการรายงานผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายมากมายเพียงพอแล้ว ที่ต้องเอามาเขียนวันนี้ก็เพื่อนำมาถอดบทเรียนร่วมกัน มาถกปัญหาเพื่อแสวงหาทางออกแห่งอนาคตกันดีกว่า ยังไงเราก็มีโอกาสที่จะต้องใช้ "การเรียนรู้วิถีใหม่ New Normal Learning" นี่ก้นอยู่แล้วในวันข้างหน้านี้

การตั้งรับไม่ทันในสถานการณ์เฉพาะหน้า

การระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดในจีนช่วงปลายปีที่แล้วในประเทศจีน และลุกลามออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายๆ คน หลายๆ ประเทศก็ไม่ได้นึกว่า มันจะรุนแรงจนถึงขนาดที่เกิดการปิดเมือง ปิดประเทศ หยุดการดำเนินการทางเศรษฐกิจ การศึกษา ไปได้มากมายขนาดนี้ ประเทศไทยเรายังนับว่ามีทีมด้านสาธารณสุขที่ดีเด่นของโลก ที่สามารถต่อกรกับโรคนี้ได้ทันท่วงทีที่ทราบข่าวการระบาด และไม่ตกอยู่ในความประมาทดังที่เราทราบกันดี แต่กระนั้นก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับปฏิบัติการต่อสู้กับโรคภัยในครั้งนี้ก็ทำให้เราจำเป็นต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่เคยสะดวกสบายไป รวมทั้งการจัดการศึกษาในโรงเรียนด้วย

จึงต้องคิดหาวิธีการที่จะทำให้การศึกษาของลูกหลายเราได้ดำเนินการไปได้ต่อเนื่อง ในระหว่างที่มีการเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปเดือนเศษนี้ ด้วยการหาวิธีให้นักเรียนได้เรียนล่วงหน้าไปก่อน โดยใช้ "วิธีการสอนออนไลน์" ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่า ประเทศไทยกับการใช้วิธีการเรียนแบบนี้นั้นยังไม่เคยทำเป็นเรื่องจริงจังมาก่อน เราเคยมีการใช้ "โทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV" มาก่อนก็จริง แต่นั่นเป็นการใช้เพื่อการแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้นเรียน ในโรงเรียนชนบทห่างไกล ไม่ใช่การนำมาใช้กับทุกโรงเรียนในประเทศอย่างกรณีนี้

1st online 02

พอจะใช้งานจริงๆ ในเวลาอันจำกัดจึงเกิดความขัดข้องขึ้นทันที เพราะกรณีนี้ไม่ได้เรียนที่โรงเรียน แต่เรียนที่บ้านของนักเรียน บ้านใครบ้านมัน เอาละเหวยทีนี้ บ้านนักเรียนมีจานรับดาวเทียมไหม มีโทรทัศน์หรือเปล่า? ถ้ามีจะให้ดูทางไหน กระจายสัญญาณอย่างไร ผู้บริหารโรงเรียน ครูในโรงเรียน ผู้ปกครองเริ่มลังเลล่ะ กระทรวงศึกษาธิการ ผู้มาไม่เคยทันกาล ก็ต้องถามผู้รู้สันทัดกรณีทั้งหลายได้ความว่า "ต้องให้ DLTV นี่หนามันออกอากาศได้ทุกช่องทางสิ" แต่มันไม่ได้มีช่องเดียวหนาต้องมีเป็นสิบๆ ช่องครบทุกช่วงชั้น ก็สรุปมาว่าได้ 17 ช่อง แต่การดำเนินการและแจ้งไปยังโรงเรียน ครู ผู้ปกครองนั้นกระชั้นชิดจนเกิดโกลาหลขึ้น

  • การออกอากาศผ่านทางทีวีดิจิทัลนั้น มีการแจ้งเรียงช่องจาก กสทช. และฝ่ายเทคนิคแต่ละเครือข่ายดำเนินการทำวันที่ 16 พฤษภาคม เสร็จเห็นได้จริงบ่ายๆ วันที่ 17 พฤษภาคม แล้วใช้ออกอากาศเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม คนที่ไม่รู้วิธีการจูนช่องจะเห็นไหม?
  • การออกอากาศผ่านดาวเทียมใช้จานรับทึบขนาดเล็ก ระบบ KU Band ไม่มีปัญหา ใครใช้จานพวกนี้อยู่เห็นเลยเพราะมีมานานแล้ว
  • การออกอากาศผ่านดาวเทียมใช้จานตะแกรงหรือจานโปร่(ดำ) ระบบ C Band บางคนรับได้ บางคนรับไม่ได้ เพราะช่องการศึกษาไม่ใช่เป้าหมายของผู้ผลิตกล่องรับดาวเทียม เมื่อสมัยโทรทัศน์ระบบดิจิทัลยังไม่บูมช่อง DLTV เป็นสิ่งที่ทุกกล่องนำมาโฆษณาว่ามีเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา (เพิ่มยอดขายนั่นแหละรู้นะ) แต่เมื่อการแข่งขันในช่องทีวีดาวเทียมสูงขึ้น ใครมีเงินทุนก็เปิดช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมได้เพื่อขายสินค้า จ่ายค่าเรียงช่องให้ผู้ผลิตกล่องรับดาวเทียมแต่ละรายไปก็ได้ออกอากาศ จนเบียดช่องการศึกษาตกไป เพราะ

1. การออกอากาศผ่านดาวเทียม ในอดีตผ่านระบบ DVB-S จะใช้แบนด์วิธสูงกว่า DVB-S2 มาก เช่น ใน 1 Transponder สามารถส่งสัญญาณได้เพียง 10 ช่อง ในขณะที่ DVB-S2 ใน 1 Transponder สามารถส่งสัญญาณได้ 17-20 ช่อง แต่ก็ต้องใช้กล่องรับรุ่นใหม่ที่เป็น HD ถึงจะถอดรหัสสัญญาณได้ แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกล่อง HD ไม่ถึง 50% ยังคงเป็นผู้ใช้งานกล่องแบบ SD เดิมอยู่มาก
2. จูนกล่องรับสัญญาณไม่เป็น ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ก็มีความสามารถแค่เปิด-ปิดกล่องรับเพื่อชมรายการเท่านั้น เมื่อภาครัฐมีนโยบายออกอากาศช่องโทรทัศน์การศึกษาผ่านดาวเทียม C Band ผู้ผลิตกล่องเห็นโอกาสที่จะได้ขายกล่องใหม่เพิ่ม จึงนำเอาช่องสัญญาณ DLTV มาออกอากาศเพิ่มในวันที่ 18 พฤษภาคม กันยกใหญ่ ชาวบ้านจูนหาไม่เป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเรียกช่างติดตั้งจานดาวเทียมมาปรับให้ ซึ่งจริงๆ แล้วทำเองได้หากมีกล่องรับแบบ HD อยู่แล้ว แค่ถอดปลั๊กออกทิ้งไว้ 2-3 นาที เสียบปลั๊กใหม่กล่องรับจะทำ OTA หาช่องใหม่ให้อัตโนมัติ (แต่ชาวบ้านจะรู้ไหมว่า กล่องรับตัวเองเป็นแบบไหน SD หรือ HD) สุดท้ายก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย

  • การออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ตทาง www.dltv.ac.th ให้รับชมผ่านคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต สมาร์ทโฟนผ่านบราวเซอร์โดยตรงหรือผ่านทางแอพพลิเคชั่นก็ได้ (เรียกไปที่เว็บเดียวกัน) จึงเกิดการล่มในทันใดไม่ถึง 10 นาทีหลังการเริ่มเรียน เพราะคนเข้าใช้งานมาก ใช่! ถูกต้อง แต่ไม่ทั้งหมด ที่มันล่ม เพราะระบบไม่ได้ถูกตั้งค่าให้รองรับปริมาณการเข้าชมอย่างพร้อมเพรียงกันมากขนาดนี้ (ทำได้แต่งบลงทุนสูง ค่าใช้จ่ายไม่มี ไม่เหมือน Youtube ที่เขามีรายได้จากโฆษณา) โครงการนี้เป้าอยู่ที่การออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมาแต่ต้น

จริงๆ แล้วมันกระทบไปถึงค่าใช้จ่ายในกระเป๋าของผู้ปกครองในภาวะยากลำบากเช่นนี้อีกมาก จะเห็นได้จากสื่อออนไลน์ที่แชร์กันว่า ผู้ปกครองต้องขอดกระปุกเอาเงินเหรียญ แบ็งค์ย่อยๆ เป็นถุงๆ ไปซื้อทีวี ซื้อมือถือ เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนกันทั่วทุกภาคของประเทศ จนต้องมี "การแถ-ลง" ของผู้บริหารระดับกระทรวงศึกษาธิการว่า "นี่เป็นการทดลองเรียนแค่นั้น ไม่ได้บังคับให้เรียน น่าจะเป็นการสื่อสารที่ผิด" (ขั้นตอนไหนผิดไม่ทราบล่ะ เพราะครูดูเอาจริงเอาจังมากเลยงานนี้)

1st online 03

ในมุมมองของผมนะ "ครั้งนี้ ทำถูกแล้ว ที่ให้มีการทดลอง แล้วมีการตื่นตัวจนมองเห็นปัญหาที่มีอยู่" ไม่ใช่ให้ทดลองแล้วต่างคนก็เฉยๆ กับมัน จนไม่มีข้อมูลจริงออกมา หากจำเป็นจะใช้จริงขึ้นมาก็คงไม่มีทางสำเร็จได้ มีหลายคนบอกว่า "ครูระดับอนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น โดนเท เพราะเหตุที่เจ้ากระทรวงแถลงว่า ไม่ได้สั่งการให้เรียนจริง แค่ทดลอง" ช่างมันเถอะครับ สิ่งที่เราจะต้องนำมาถอดบทเรียนในเหตุการณ์นี้คือ

ความพร้อมด้านอุปกรณ์และโครงข่าย

เป็นอุปสรรคหลักๆ เลยที่ต้องเร่งแก้ไข ตั้งแต่การรับสัญญาณผ่านดาวเทียมทุกระบบต้องสามารถเข้าถึงได้ กสทช. ต้องกำหนดให้ช่องการศึกษาเป็น Must Carry ทุกช่องทาง นั่นคือไฟท์บังคับว่า ผู้ให้บริการกล่องดาวเทียมทุกกล่องต้องมีช่อง DLTV และมีหมายเลขช่องที่ตรงกันทุกกล่อง

ส่วนทีวีดิจิทัลนั้นผมมองว่า จะมีอุปสรรคมากกว่า เพราะค่าใช้จ่ายในโครงข่ายสูงมาก (สูงกว่าผ่านทางดาวเทียมเกือบ 10 เท่า) ใครจะรับผิดชอบ ที่ออกอากาศอยู่ตอนนี้เป็นการสนับสนุนชั่วคราวไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 6 เดือนเท่านั้นนะครับ ถ้าจะให้มีการออกอากาศจริงผ่านทีวีดิจิทัลน่าจะลดจำนวนช่องลง เอาเฉพาะเนื้อหาที่เป็นคลิบความรู้สั้นๆ มีตารางออกอากาศกำหนดที่แน่นอน เพื่อให้ครูได้ทำแผนการสอนอ้างถึงสื่อนี้ ไม่ใช้แบบสอนทั้งคาบอย่าง DLTV

1st online 04

การเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ปัญหาของความเหลื่อมล้ำแน่นอนที่แก้ยากสุด เพราะอินเทอร์เน็ตที่กระทรวงดิจิทัลฯ บอกว่าจะขยายไปยังทุกเขตขัณฑ์ของประเทศ มันก็ยังลมๆ แล้งๆ อยู่ ที่ไปถึงก็เอาแน่นอนไม่ได้เหมือนฝนที่ตกในประเทศนี้ มีทั้งที่ตกจนน้ำท่วม และที่ตกแบบสาบานได้ว่ามีฝนตกนะ อินเทอร์เน็ตก็เช่นกันติดๆ ดับๆ ไม่สามารถจะดูรายการแบบสตรีมมิ่งได้ เมื่อพูดถึงอุปกรณ์ก็ยิ่งแล้วใหญ่ว่าไม่มี หรือมีน้อยและด้อยคุณภาพ ปัญหาคือมีแล้วมันไม่จบ มันยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนอีกที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้

ถ้าไม่มีโรคระบาดมันแก้ได้ง่ายกว่า เพราะเราสามารถทุ่มไปที่โรงเรียน หรือในชุมชนในท้องถิ่นให้มาเรียนรู้ร่วมกันที่จุดศูนย์กลางได้ จึงเป็นความท้าทายที่บรรดานักวิชาการการศึกษา รัฐบาล และเอกชนทุกภาคส่วนต้องคิด ลงมือทำร่วมกัน

ความถูกต้องเหมาะสมในเนื้อหา

นับเป็นดราม่าในโลกออนไลน์มากที่สุด ต้องยอมรับกันก่อนว่า โครงการ DLTV คือการถ่ายทอดการสอนสดๆ จากโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน มีการบันทึกเทปแล้วเอามาออกอากาศซ้ำ (Re-run) โดยไม่มีการมาตัดต่อ แก้ไข แทรกเนื้อหาใดๆ เพิ่มเติมเข้าไป ตามบริบท (คือความพร้อมของครู-นักเรียนในห้องเรียนขณะนั้น) จึงอาจมีการผิดพลาดได้ (เพราะครูที่สอนก็มีภาระงานมากมายเช่นเดียวกับครูในโรงเรียนอื่นๆ) เป้าหมายแรกตอนก่อตั้งคือ เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนชนบทห่างไกลที่ขาดแคลนครู มีครูไม่ครบชั้นเรียน ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง ความผิดพลาดแก้ได้ด้วยครูโรงเรียนปลายทาง ที่จะช่วยแนะนำกับนักเรียน ยกตัวอย่างเสริมในสถานการณ์หรือบริบทที่ต่างกันได้

1st online 05

แต่พอมาใช้กับผู้เรียนที่บ้าน ที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลก็อาจจะปล่อยผ่านไป ที่มีดราม่าคือมีผู้ปกครองที่ใส่ใจและมีความรู้ดูด้วยกันกับเด็ก ก็เลยมีคำถามตามมาว่า ใช่หรือ ถูกต้องไหม? ถ้าไม่ถูกก็ช่วยอิบายให้ลูกหลานฟังเถอะครับอย่าดราม่าเลย (บางทีอาจจะไม่ถูกเพราะวิธีคิดหรือรูปแบบการสอนก็ได้นะ อย่างผู้ปกครองที่เคยเรียนหลักสูตรแบบเดิมใช้หลักคณิตคิดในใจหาคำตอบ แต่ครูหลักสูตรใหม่ใช้วิธีการกระจาย ซึ่งให้ผลลัพธ์คือคำตอบเดียวกัน ก็ได้ อันนี้ผมเคยสอนหลานจนร้องไห้มาแล้วว่า ที่ตาสอนไปคุณครูให้ผิดวิธีหมดเลย แต่ตอบถูก 555)

การสอนวิชาภาษาอังกฤษก็เหมือนกัน ภาษาคือการสื่อสาร ถ้าผู้พูดสามารถสื่อสารกับฝ่ายตรงข้ามได้คือถูกต้อง ไม่ใช่สำเนียงต้องเป๊ะอย่างนั้นอย่างนี้ ในความเป็นจริง Native English คือ ที่ไหนกันแน่ อังกฤษ อเมริกัน? ถ้าเอาอังกฤษเป็นแม่แบบใน Great Britain เองก็มีหลายภาค หลายเมือง หลายส่วน สำเนียงต่างกันนะ ยิ่งอเมริกากว้างใหญ่ไพศาลมีหลายมลรัฐ สำเนียงก็แตกต่างกันไป เหมือนการพูดภาษาไทยเรานี่แหละ คนบางกอก คนเพชรบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ สุโขทัย ขอนแก่น อุบลราชธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ก็ยังพูดสำเนียงไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ที่โรงเรียนในประเทศไทยเปิดสอนหลักสูตร EP, miniEP แล้วหาครูที่เป็น Native Teachers มาสอนจึงมีทั้ง ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินเดีย อัฟริกา ยุโรปชาติอื่นๆ ที่มีสำเนียงเป็น Englishessssss... (เยอะรูปแบบ) ไม่เหมือนกันสักโรง ผิดไหม? ไม่ผิดหรอกครับ ถ้าลูกศิษย์ของท่านสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติอื่นๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวันได้ แม้จะใช้ครูไทยสอนก็ยังได้เลย ผมถึงเห็นความจำเป็นที่ครูไทยในยุคปัจจุบัน (ทุกสาขาวิชา) ควรมีความสามารถสอบผ่าน TOIEC ได้ 400 ขึ้นไป (ยังไม่ถึง 50% ของคะแนนเต็มนะ) ส่วนครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษควรสอบได้เกิน 600 ขึ้นไป (ลองอ่านบทความนี้เพิ่มเติมครับ)

1st online 06

ถอดบทเรียนเพื่ออนาคต

ในอนาคตหากต้องการจะทำให้เกิดผลประโยชน์ เราจะทำอย่างไรดี?

  • สร้างครูต้นแบบพัฒนาสื่อออนไลน์ จริงๆ ก็มีกันอยู่แล้วแต่ยังน้อยและไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง หน่วยเหนือคอยแต่จะคว่าเอาผลไปใช้งาน แต่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนานั้นไม่ได้รับการสนับสนุนเลย ทั้งในแง่ของงบประมาณดำเนินการ แหล่งข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ (การมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ) สุดท้ายครูกลุ่มนี้ก็ฝ่อไป เพราะทำไปก็เท่านั้น
  • ทำให้การเข้าถึงสื่อการเรียนออนไลน์เป็นวิถีชีวิตใหม่ New Normal Learning เรื่องนี้ใหญ่มาก เพราะลำพังครูเองคงไม่สามารถทำได้ตามลำพังแน่นอน แต่ก็ต้องเริ่มจากครูด้วยการส่งเสริม สรรหาวิธี กระบวนการ ให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมจากสื่ออื่นๆ รอบตัว นอกจากสิ่งที่ครูสอนในห้องเรียน ในขณะที่ผู้ปกครอง สังคมรอบข้างก็ต้องส่งเสริมให้มีองค์ประกอบ วัสดุอุปกรณ์เพื่อการค้นคว้านี้

    จะยากหน่อยก็ตรงที่ครูเองก็ยังเชื่อและแชร์สิ่งผิดๆ ในโลกออนไลน์ทั้ง Facebook, Line นี่แหละ เชื่อและแชร์ไวจัง ขอเพียงตรงกับจริตฉัน
  • สร้างสื่อที่ดีมีเนื้อหาที่น่าติดตาม เราไม่ต้องไปทำการสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แบบมีแผนการสอนให้จบในคาบ 30-50 นาที แต่มาช่วยกันสรรหา คัดเลือกสื่อที่ดีๆ น่าสนใจมาทำเป็นความรู้ คลิปตอนสั้นๆ เหมาะกับผู้เรียนในแต่ละระดับ อัพขึ้นไว้ใน Youtube ให้หน่วยงานทางการศึกษารวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ ค้นหาง่าย ใครนำไปใช้ก็ให้เครดิตและที่มาของสื่อ โดยไปทำแผนการสอน/คำแนะนำวิธีการเรียนให้เหมาะกับบริบทของกลุ่มนักเรียนตนเอง

1st online 07

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ยุติลงจนเข้าใกล้ภาวะปกติ ผมก็ยังเชื่อว่า การเรียนปกติในโรงเรียนก็ยังเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุด ส่วน New Normal ทางการศึกษาที่จะเกิดขึ้นนั้น การเรียนทางไกลหรือการเรียนออนไลน์ จะเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งสำหรับบางสถานการณ์กับนักเรียนบางกลุ่ม และบางพื้นที่ ไม่ใช่การเรียนแบบวิถีใหม่ของการศึกษาไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ บุคลากรทางการศึกษา-v'gikจำนวนมากได้ปรับตัว เพื่อใช้เทคโนโลยีในการทำงานทางไกล เช่น การประชุมออนไลน์ การจัดการเอกสารออนไลน์ผ่านคลาวด์ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว แม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยตรง แต่น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ จึงมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปแม้การระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลง

ปรากฏการณ์ของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน ครูจัดการเรียนการสอนไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่ถึงสิ่งที่มีความสำคัญ และจำเป็นแท้จริงต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น หลักสูตรแกนกลางที่มีอยู่เดิมเทอะทะเกินไป และไม่เหมาะกับบริบทของเด็กแต่ละคน และกฎเกณฑ์เรื่องการแต่งกายและการไว้ทรงผมไม่มีความสำคัญเมื่อเด็กเรียนรู้อยู่ที่บ้าน เป็นต้น

เราควรใช้ความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ มาออกแบบอนาคตของการศึกษาไทย โดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียน มากกว่า เงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบาย แนวคิด หรือผลประโยชน์บางอย่าง ที่ไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น ให้น้ำหนัก

  • การมีปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียน มากกว่า จำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียน หรือเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อทางออนไลน์
  • การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียน เชื่อมโยงกับชุมชนและบริบทที่นักเรียนอยู่ มากกว่าการเรียนรู้อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ
  • การประเมินผลเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน (formative assessment) จากชิ้นงานและพฤติกรรมของนักเรียน มากกว่าการประเมินเพื่อการตัดสิน (summative assessment) เพื่อนำไปใช้ให้คุณให้โทษแก่โรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา
  • การช่วยเหลือนักเรียนที่มีความท้าทายในการเรียน ควบคู่กับการส่งเสริมนักเรียนกลุ่มอื่นๆ ให้เต็มตามศักยภาพ เนื่องจากนักเรียนที่ขาดแรงจูงใจในการเรียนเป็นทุนเดิม หรือมาจากครอบครัวยากจน มีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นเมื่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
  • การเรียนรู้เพื่อสุขภาพกายและใจ ควบคู่กับการเรียนรู้ด้านวิชาการ สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของทุกคน รวมถึงเด็กๆ ทุกวัย ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของสมองชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ยากเมื่อเด็กมีความเครียด หรืออยู่ในภาวะที่เป็นอันตราย ครูจึงควรสอดแทรกเนื้อหาความรู้เรื่องสุขภาวะ การดูแลสุขภาพกายและใจ เพื่อให้เด็กเรียนรู้และปรับตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์ครอบครัวและสังคมที่ไม่แน่นอน
  • การจัดสรรทรัพยากรออฟไลน์แก่เด็กและครอบครัว ควบคู่กับทรัพยากรออนไลน์ เช่น จัดสรรหนังสือเด็กให้แก่ครอบครัวด้อยโอกาส เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่บ้าน จัดให้มีอาสาสมัครติดตามสถานการณ์เด็กในแต่ละครอบครัว และให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลลูก ในลักษณะเดียวกันกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในด้านต่างๆ ไม่เพียงแค่การศึกษาเท่านั้น

การสร้างความปกติใหม่ตามข้อเสนอนี้ สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล เพียงอาศัยการปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับกระบวนการทำงานของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภายนอก ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมถึง ถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากแนวทางการจัดการศึกษาที่กล่าวมานี้ คือ “ความปกติเดิม” ที่เกิดขึ้นมาแล้วในระบบการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงบางโรงเรียนในประเทศไทยที่ปรับการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 มาก่อนหน้านี้ และน่าจะยังคงสอดคล้องกับโลกในอนาคต

(อ้างอิงจากบทความของ ณิชา พิทยาพงศกร TDRI คลิกดูต้นฉบับ)

 

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy