คุณมองแอร์โฮสเทสอย่างไร?

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ คนบางกลุ่มก็ยังมอง “แอร์โฮสเตส สจ๊วต” ด้วย “ภาพเดิมๆ”

แม้ว่าข่าวที่เครื่องบินสายการบิน Asiana ประสบอุบัติเหตุที่ซานฟรานซิสโกจะดังก้องโลก และเรื่องของแอร์โฮสเตสตัวเล็กๆ ที่ผู้โดยสาร และผู้เห็นเหตุการณ์ต่างบอกตรงกันว่า “เธอคือผู้ช่วยชีวิต” ก็เป็นข่าวดังไม่แพ้กัน ตอนแรกเราเชื่อว่า ภาพข่าวนี้น่าจะช่วยเปิดหูเปิดตา ให้กับบุคคลภายนอกวงการการบินได้รับรู้ว่า ที่จริงแล้ว “นางฟ้า” เขาทำหน้าที่อะไร แต่ก็ยังไม่วายเจอคำตอบเดิมๆ เสริฟ เก็บๆ เดินสวยๆ เชิดๆ หยิ่งๆ

ที่เห็นอยู่เท่านั้นก็จริงล่ะ เพราะเครื่องบินมันไม่ได้ตกบ่อย ตกทุกไฟลท์เสียเมื่อไหร่ ความสามารถในการอพยพ ที่บรรดาแอร์และสจ๊วตได้เทรนกันมา เลยไม่ค่อยได้เห็น ได้ใช้ความสามารถนี้

“แอร์-สจ๊วต” ทุกคน ที่มาบินแล้วให้บริการ เสริฟอาหาร แก่บรรดาผู้โดยสาร ต้องมีการสอบต่อใบอนุญาตบินกันทุกปี ความรู้เรื่อง Safety ต้องอัพเดตตลอด ต้องสอบทบทวนกับบริษัทที่ทำงานอยู่ นอกจากควบคุมคุณภาพพนักงานโดยสายการบินแล้ว ยังมีองค์กรกลางระหว่างประเทศ (ICAO) ที่คอยทำการตรวจเช็คมาตรฐานความปลอดถัย มีการสุ่มเช็คมาตรฐานความปลอดภัย ของการปฏิบัติงานตลอดเวลา หากไม่ผ่านถึงขนาดยึดใบอนุญาตของสายการบินก็มี

หากคุณยังคิดว่า แอร์โอสเตส สจ๊วต ทำหน้าที่แค่เสริฟกับเก็บถาด ให้ลองไปถามคนที่เคยป่วยบนเครื่องบินดูว่า แอร์ทำอะไรบ้าง บางคนคลอดลูกบนเครื่อง เป็นโรคหัวใจ สลบ ชัก หรือแม้กระทั่งกินอาหารติดคอ อาการเหล่านี้บรรดาแอร์และสจ๊วต ได้ผ่านการเทรนมาเพื่อปฐมพยาบาล เพื่อยื้อชีวิตของคุณผู้โดยสารที่เคารพรัก เท่าชีวิตของพวกเราเอง

หรือเคสที่ร้ายแรงเช่น เครื่องบินตก ลงจอดฉุกเฉิน เกิดการตกหลุมอากาศ แอร์ต้องทำอะไรบ้าง ข้อมูลเหล่านี้คุณสามารถหาดูได้จากสื่อมากมาย หรือบทสัมภาษณ์หลายพันฉบับ แต่คนบางกลุ่มก็ยังปิดกั้นตัวเอง จากการยอมรับว่า อาชีพนี้ ก็มีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีความรับผิดชอบ มีความหมายเท่าๆ กับทุกๆ อาชีพบนโลกใบนี้

ทำไมแอร์ต้องดูเชิดๆ หยิ่งๆ

ตอบ เพราะ หมวกที่พวกเราใส่อยู่น่ะสิคะ มันพร้อมจะหลุดได้ทุกเวลา ทางแก้คือ เดินเงยหน้านิดนึง และอีกอย่่างตามกฎของทุกบริษัทเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ลูกเรือจะต้องรักษาภาพลักษณ์อันดีงาม แต่งยูนิฟอร์มให้ครบถ้วน ห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง ห้ามสูบบุหรี่ และอื่นๆ อีกมากมาย

เวลาไปเดินที่สนามบินแต่ละที มีสายตากี่คู่ที่จ้องมอง ถ้าไม่ได้เป็นเซเล็บโดยอาชีพ ก็ไม่รู้จะทำหน้ายังไง ยิ้มหวานกวาดสายตาก็ดูจะเป็นนางงามไปหน่อย ครั้นจะส่งยิ้มให้ทุกสายตา เกรงว่าจะไม่ไหว

อาชีพนี้ทำอะไรบ้าง

ก่อนเวลาเครื่องออก 120 นาทีเป็นอย่างต่ำ ที่แอร์ สจ๊วต จะต้องมารายงานตัว ทำการบรีฟรายละเอียดต่างๆ เช็คความเรียบร้อยของเอกสาร เครื่องแต่งกาย สถานะอากาศในเส้นทางบิน รวมทั้งจุดหมายปลายทาง และรวมถึงความรู้เรื่อง Safety ที่จะต้องถามกันก่อนบินทุกไฟลท์ ใครตอบไม่ได้มีสิทธิ์โดน Offload ไม่ได้บินไฟลท์นั้น ลากกระเป๋ากลับบ้านไป แถมโดนสอบใหม่อีก

1 ชั่วโมงก่อนเครื่องออก (30 นาทีก่อนผู้โดยสารบอร์ดดิ้ง) ลูกเรือทุกคนรวมถึงนักบิน ต้องเช็คอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยทุกอย่าง ทุกชิ้น ในตำแหน่งหน้าที่ของตัวเอง เช่น ถังดับเพลิง ถัง Oxygen เสื้อชูชีพ เป็นต้น รวมถึงการตรวจหาวัตถุแปลกปลอม เช่น (ระเบิด) นอกนั้นยังรวมถึงจำนวนอาหาร เครื่องดื่ม ที่จะต้องใช้เสริฟ ใช้ขาย (ของที่ระลึก) ความสะอาดของห้องโดยสาร ที่นั่ง หน้าจอทีวีใช้งานได้หรือไม่

ผู้โดยสารบอร์ดดิ้ง นอกจากแอร์จะช่วยหาที่นั่ง สลับที่ หน้าที่จริงๆ ของเราคือ มองหาผู้ที่สามารถจะเป็นผู้ช่วยยามเกิดเหตุฉุกเฉินได้ (คนที่นั่งใกล้ประตูฉุกเฉิน ชิดขอบหน้าต่างนั่นแหละ ยิ่งเป็นผู้ชายร่างกายแข็งแรงจะเหมาะเหม็งที่สุด) แจกเข็มขัดนิรภัยสำหรับทารก รวมถึงช่วยกันดูว่า ผู้โดยสารแต่ละท่านที่ขึ้นมา พร้อมบินไปกับเราถึงที่หมายอย่างปลอดภัยหรือไม่ บางคนป่วยหนัก เมา หรือบุคคลใดๆ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน หากมีบุคคลเหล่านี้ เพื่อความปลอดภัยของพวกท่านเอง แอร์จึงต้องปฏิเสธการขึ้นเครื่อง

ก่อนเทคออฟ ต้องมีการสาธิตอุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ และแสดงทางออกทั้งหมดบนเครื่องบิน ไม่ว่าจะด้วย Video หรือ แอร์เป็นผู้แสดงเอง (ในสายการบินระยะสั้นในประเทศอย่าง นกแอร์ แอร์เอเชีย คงเห็นจนชินตา) หลังจากนั้นต้องแน่ใจว่า ผู้โดยสารทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัย ปรับเบาะตรง พับโต๊ะด้านหน้า เปิดม่านบังแสงช่องหน้าต่าง และปิดอุปกรณ์สื่อสารแล้ว ลูกเรือจึงจะไปนั่งประจำที่ของตนเอง

ระหว่างเครื่องกำลังบินขึ้น (Take off – ถ้าคุณนั่งตรงใกล้ประตูทางออก) อย่าแปลกใจว่า “ทำไมแอร์ที่นั่งตรงหน้าหยิ่ง ทำหน้านิ่งเหมือนคิดอะไรอยู่ ทำไมไม่คุยด้วย” เพราะช่วงเวลานั้น เราถูกเทรนมาว่า จะต้องคิดทบทวนว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เราจะต้องทำอย่างไร จะอพยพผู้โดยสารแบบไหน ประตูที่เรานั่งอยู่เปิดแบบใด ทุกเหตุการณ์ที่สมมติได้ จะต้องถูกเตรียมไว้ในสมองตลอด

ส่วนของการเสริฟการบริการคงไม่ต้องพูดถึง (ท่านเห็นอยู่แล้ว) ในเที่ยวบินระยะไกลอาจจะเสริฟมากกว่าหนึ่งครั้ง ทั้งอาหาร ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มต่างๆ

ระหว่างบิน แอร์ต้องเช็คความปลอดภัยต่างๆ ตลอดเวลา ระวังไฟไหม้ อาจจะจากผู้โดยสารแอบสูบบุหรี่ หรือไฟฟ้าลัดวงจร ดูห้องน้ำให้สะอาด เก็บขยะ ฉีดน้ำหอมดับกลิ่น เดินตรวจตราดูผู้โดยสาร บางคนเป็นลม บางคนอยู่ดีๆ เกิดหยุดหายใจ บางคนอาจจะกลัวการบินจนหมดสติก็ได้

ก่อนเครื่องบินจะร่อนลง (Landing) ลูกเรือทุกคนก็ต้องทำแบบเดิม ตรวจเช็คผู้โดยสารด้วยวิธีการเหมือนเดิม เหมือนตอนที่เครื่องจะขึ้นนั่นแหละครับ (ปรับเก้าอี้ตั้งตรง รัดเข็มขัด ปิดอุปกรณ์สื่อสาร เปิดม่านหน้าต่าง)

หลังเครื่องแลนด์แล้ว ลูกเรือยังต้องเดินตามเช็คตามที่นั่ง ทุกที่นั่งว่า มีผู้โดยสารลืมอะไรไว้หรือเปล่า มีคนแอบทิ้งวัตถุต้องสงสัยไว้มั้ย ฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า หากคุณลืมสิ่งของไว้ แล้วยังวิ่งกลับมาที่เครื่อง จะพบกับคำตอบว่า ของได้ถูกส่งไปยังกราวด์สต๊าฟแล้ว เพราะทันทีที่ผู้โดยสารคนสุดท้ายลงจากเครื่อง ต้องดำเนินการเช็คทันที

ข้อเสียของอาชีพนี้ (ข้อดีคงไม่ต้องพูด ทุกคนคงรู้อยู่)

  • ทำลายสุขภาพแบบผ่อนส่ง ไหนจะเรื่องอาการปวดหลัง จากการยกของหนัก ยกกระเป๋าขึ้นช่องเก็บของเหนือศีรษะ ลองคิดดูว่า หากแอร์ 1 คน ช่วยผู้โดยสารยกวันละ 5 ใบ ทำงาน 20 วัน เท่ากับ 100 ครั้ง จะสร้างความเสียหายให้กับกระดูกสันหลังขนาดไหน แอร์บางคนถึงกับเดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็นลงจากเครื่อง ยังไม่รวมถึงเวลาพักผ่อนที่ไม่ปกติ เจ็ตแลค หูบล็อก หูอื้อ บางคนถึงกับแก้วหูทะลุ
  • ไม่มีเวลาเหมือนคนปกติ เพราะทำงานเวลาที่คนอื่นนอน นอนเวลาคนอื่นทำงาน วันหยุดเทศกาล คือ เวลาทำงานของเรา (เจ้าของบล็อกนี้ทำงานมา 8 ปียังไม่เคยขอหยุดช่วงปีใหม่ได้สักที ตามกฏบอกไว้ขอหยุดได้ทุกๆ 4 ปี)
  • จะลาป่วยแต่ละที ต้องมีใบรับรองแพทย์เสมอ ต้องแจ้งล่วงหน้า เพื่อที่สายการบินจะได้จัดหาคนบินแทนได้ทัน
  • ทำผมทรงตามแฟชั่นมากไม่ได้ แต่งหน้าก็ต้องตามกฎ เล็บก็ต้องทาสีที่กำหนด
  • ต้องรักษาสุขภาพให้อยู่ในเกณฑ์ที่แต่ละสายการบินกำหนด ห้ามเลือดจาง ห้ามกระดูกสันหลังคด
  • อาชีพนี้ต้องยอมรับความเสี่ยง เพราะเครื่องบินที่ปลอดภัยที่สุด คือเครื่องบินที่จอดอยู่บนพื้น แต่จากข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ จอดอยู่เฉยๆ ไฟก็ไหม้ได้!
  • ไม่ใช่ทุกสายที่มีสวัสดิการดีเลิศ อยู่ที่ความพอใจของแต่ละคนเลือกจริงๆ
  • อาชีพนี้ หากจะเปลี่ยนสายงาน จะไม่ค่อยได้รับการยอมรับ จะถูกมองว่าทำอะไรไม่เป็น แต่ได้เงินเดือนเยอะๆ มาจะสู้ไหวเหรอ (ประสบการณ์ตรง) จึงต้องยอมเริ่มต้นใหม่ หรือทำธุรกิจส่วนตัวไปเลย
  • คนที่บินเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะเริ่มติดกับวิถีชีวิตแบบนี้ (ถอนตัวยากนั่นเอง)
  • งานหนักจริง บางไฟลท์ 11 ชั่วโมง แอร์ สจ๊วตก็ต้องเดินกันตลอดเวลา เพื่อบริการผู้โดยสารอันเป็นที่รักนั่นเอง

“ลูกเรือไม่มีหน้าที่ยกกระเป๋าให้ผู้โดยสารนะครับ”

ผู้โดยสารจะต้องรับผิดชอบ กับสัมภาระที่หิ้วขึ้นเครื่อง ของตัวเองเป็นลำดับแรก ก่อนจะขอความช่วยเหลือจากลูกเรือใครที่คิดว่า ของเยอะ ยกไม่ไหว หรือขี้เกียจ และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในการยกของได้ กรุณาหลีกเลี่ยงการเอาสัมภาระขึ้นเครื่อง ให้โหลดลงใต้ท้องเครื่องซะ (โดยปกติสัมภาระที่เอาขึ้นเครื่องจะต้องมี น้ำหนักไม่เกิน 7 กก. หรือแล้วแต่กฎของสายการบินแต่ละสาย)

การที่เค้ายกให้ในบางกรณีคือ การแสดงน้ำใจอำนวยความสะดวก แต่ไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องทำนะครับ (เข้าใจให้ตรงกันแล้วจะได้ไม่ต้องโวยวายว่า เขาไม่ช่วยเหลือ ใจดำ)

ทุกอาชีพมีข้อดี ข้อเสีย มีบทบาทของตัวเอง มีหน้าที่ที่ต้องทำ ดังนั้น พวกเราเชื่อว่า “ไม่มีอาชีพไหนบนโลกที่ทำได้ง่าย” ทุกอาชีพล้วนต้องการความสามารถ ความรู้ ความชำนาญ

แทนที่จะบอกว่าเป็น “แค่….” ก็ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้างคงจะดี

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)