The world’s oldest airline.

สถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัส (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบครั้งรุนแรงต่อเศรษฐกิจของโลก มากกว่าครั้งใดๆ ทำให้กิจการต่างๆ ล้มหายตายจากไปด้วยทนต่อภาวะความชงักงันไม่ไหว ตามที่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ มากมาย และกิจการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็น “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดการเดินทางไปมาหาสู่กัน การขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ต่างก็หยุดดำเนินกิจการ

ยังคงเหลือเพียงการขนส่งที่จำเป็นทางการบรรเทาทุกข์ ทางการแพทย์ การขนส่งอาหาร เท่านั้นที่ยังคงมีอยู่ สถานบริการทั้งโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ผับ บาร์ การขายสินค้าที่ระลึก ธุรกิจนำเที่ยวหยุดลงในทันที เราจึงได้เห็นข่าวการขอล้มละลาย เลิกกิจการ ขายทิ้งกิจการแบบทอดตลาดในหลายๆ ธุรกิจ เช่น โรงแรม สายการบิน แม้แต่เครืออาหารชื่อดังอย่าง Pizza Hut ในสหรัฐอเมริกาก็ตัดสินใจยื่นขอล้มละลาย Chapter 11 แก่ศาลเท็กซัสเป็นที่เรียบร้อย อำลาตลาดจากพิษโควิด-19 ซึ่งต้องรอดูอนาคตกันต่อไป

ในธุรกิจสายการบินก็เช่นเดียวกัน มีหลายสายการบินที่ก่อตั้งมายาวนานนับ 100 ปีแต่ก็ฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ แม้จะบาดเจ็บบ้างแต่ก็ยังสู้ต่อ บางสายการบินแม้จะเปิดมานาน แต่ทนบาดเจ็บไม่ไหวขอโบกมืออำลาไปก็มาก วันนี้เลยนำเอาเรื่องราวของสายการบินต่างๆ ที่เป็นตำนานของสายการบินของโลกมาเล่าสู่กันฟัง

สายการบินแรกของโลก

DELAG

DELAG ย่อมาจาก Deutsche Luftschifffahrts-Aktiengesellschaft (ภาษาเยอรมัน หมายถึง “German Airship Travel Corporation”) เป็นสายการบินแรกของโลกที่ใช้เครื่องบิน (ความจริงคือ “เรือเหาะ”) ในการบริการหารายได้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1909 (พ.ศ. 2452) โดยดำเนินการบินด้วยการใช้เรือเหาะ ที่ผลิตโดย บริษัท Luftschiffbau Zeppelin Corporation มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

LZ7 Zeppelin Passenger ship ที่มา: http://hdl.loc.gov/loc.pnp/ggbain.09494

ถือได้ว่าเป็น “สายการบินแรกของโลก” ที่ให้บริการด้านการบินที่ทำให้เกิดรายได้เชิงพาณิชย์ ซึ่งต่อมาได้ร่วมกับ Deutsche Zeppelin Reederei (DZR) ในปี 1935 มีเที่ยวบินให้บริการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จนกระทั่งเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่จากการระเบิดของเรือเหาะ Hindenburg ในปี 1937 และบริษัทได้ปิดตัวลงในปี 1940

 The Hindenburg, a large German commercial passenger-carrying rigid airship, destroyed by fire on May 6, 1937, at the end of the first North American transatlantic journey at Lakehurst Naval Air Station in Manchester Township, N.J. The Hindenburg, a large German commercial passenger-carrying rigid airship, destroyed by fire on May 6, 1937, at the end of the first North American transatlantic journey at Lakehurst Naval Air Station in Manchester Township, N.J.
ที่มา: https://time.com/4764799/hindenburg-disaster-80-years/

สายการบินที่เป็นตำนานของโลก

นี่คือ 10 อันดับสายการบินที่ดำเนินกิจการมายาวนานสุดก่อนสถานการณ์โควิด-19

1. KLM

Year of foundation: 1919
First flight: May 1920
Passengers transported in the first year: 440
Passengers transported in 2018: 34.2 million

เนเธอร์แลนด์ หรือ ดัทช์ เป็นประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยมีกองเรือพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และดูเหมือนว่า ชาวดัตช์เป็นหนึ่งในชาติกลุ่มแรกที่จัดตั้งสายการบินแห่งชาติขึ้น และยังคงสถานะอยู่ในปัจจุบัน ด้วยมีความจำเป็นในการเชื่อมต่อระหว่างกรุงอัมสเตอร์ดัมกับเมืองอาณานิคมในอีกซีกโลก ที่รู้จักกันในชื่อ Dutch East Indies นั่นเอง จึงได้ก่อตั้งสายการบิน KLM (Koninklijke Luchtvaart Maatschappij) ความหมายภาษาอังกฤษ คือ Royal Aviation Company ขึ้น

KLM flew its first scheduled passenger service with this Airco DH.16, G-EALU, from Croydon to Amsterdam, 17 May 1920. (Unattributed)

แม้ว่าสายการบินจะก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการใน เดือนตุลาคม ปี 1919 แต่สายการบินใหม่นี้ก็ได้ขึ้นบินบริการจริงๆ เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1920 เมื่อเครื่องบินแบบ De Havilland DH.16 แบบ 4 ที่นั่งทำการบินครั้งแรกสู่สนามบิน Croydon Airport ในกรุงลอนดอน และในปี 1924 KLM ก็เปิดตัวบริการจากกรุง Amsterdam สู่ Batavia (ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่เป็นเมืองในอาณัติขณะนั้น) ซึ่งเป็นเส้นทางบินที่ยาวที่สุดในโลก ณ เวลานั้น และในปี 1946 KLM กลายเป็นสายการบินแห่งแรกของยุโรปที่เริ่มทำการบินสู่นิวยอร์ก โดยใช้เครื่องบิน McDonell Douglas แบบ DC-4

รูปมงกุฎที่อยู่เหนืออักษร KLM นั้นดูโดดเด่นบนแพนหางเครื่องบิน และในชุดเครื่องแบบของพนักงาน และโลโก้ KLM นี้ได้เปลี่ยนโฉมมา 11 ครั้งแล้ว และทุกคนในสายการบินนี้มีความภาคภูมิใจมากที่สุดคือ การเป็นสายการบินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (ในชื่อเดิมจนถึงปัจจุบันที่ยังคงให้บริการอยู่) เมื่อ เดือนตุลาคม 2019 เป็นวันครบรอบ 100 ปีที่ สมเด็จพระราชินี Wilhelmina แห่งเนเธอร์แลนด์ ที่มอบตำแหน่ง “ราชวงศ์” (สวมมงกุฏ) ให้กับสายการบินขนาดเล็กที่ก่อตั้งขึ้นในชื่อ Koninklijke Luchtvaart Maatschappij N.V. ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อย่อของ KLM ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่โดดเด่นที่สุดในอุตสาหกรรมการบิน

KLM เป็นสายการบินสัญชาติดัตซ์ ได้พยายามสื่อกับโลกด้วย Proud to be Dutch ที่ปรากฎในนิตยสาร สื่อความบันเทิง จนไปถึงลวดลาย Royal Delft Blue บนแก้ว ถาดรองอาหาร สวยงามมากจนผู้โดยสายอยากได้เป็นที่ระลึกกันเลยทีเดียว และที่สำคัญ สายการบินนี้ “เน้นเรื่องการตลาดออนไลน์” เรียกว่า “แคมเปญการตลาดบนโซเชียล” เยอะที่สุดในโลก และยังมีการให้บริการมากมายในอินเตอร์เน็ต จึงทำให้ธุรกิจ แบรนด์นี้อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การบินของโลกอย่างคงกระพัน

จุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญของโซเชียล ต้องมองย้อนกลับไปในปี 2010 เนื่องจากสายการบินจำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่ภูเขาไฟที่ไอซ์แลนด์เกิดการประทุ และระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง ทาง KLM จึงทำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ติดต่อผู้โดยสารที่ติดค้างอยู่ จากการจราจรทางอากาศที่เป็นอัมพาตทั่วทวีปยุโรป ตอนนั้น Facebook และ Twitter จึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ไม่หยุดเพียงแค่เหตุการณ์กาลนั้นเท่านั้น KLM ได้เล็งเห็นประสิทธิภาพของสื่อในโซเชียล และนำประโยชน์จากโซเชียลกับมาพัฒนาอย่างจริงจัง จนประสบความสำเร็จจากการขายสินค้าออนไลน์ และยังสามารถจองตั๋วเครื่องบินได้ผ่านทาง Facebook และสามารถชำระค่าตั๋วเครื่องบินผ่าน Link Social Payment ได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังมีบริการถาม-ตอบกลับข้อมูล ทุกข้อสงสัยภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น

เป็นที่น่าประหลาดใจมาก สำหรับอุตสาหกรรมที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับความผันผวน และความไม่มั่นคงทางการเงิน มีสายการบินเพียงไม่กี่สายการบิน ที่ดำเนินการตั้งแต่ปีแรกของการบินที่กล้าหาญ และยังคงอยู่รอดในรูปแบบดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน

สถานะปัจจุบัน Air France ได้เข้าซื้อกิจการของ KLM เมื่อเดือนพฤษภาคม 2004 จึงได้เปลี่ยนเป็นมาสังกัด Air France-KLM Group ซึ่งเป็นสมาชิกพันธมิตรสายการบิน SKYTEAM และทั้ง Air France และ KLM ยังคงให้บริการในชื่อของตัวเองอยู่

2. Avianca

Year of foundation: 1919
First flight: 1919
Passengers transported in 2018: 30.5 million

สายการบินนี้ก่อตั้งขึ้นโดยผู้อพยพชาวเยอรมัน ที่อยู่ในเมือง Barranquilla ประเทศโคลอมเบีย ในปี 1919 สายการบิน Avianca นี้มีเดิมชื่อว่า SCADTA โดยเริ่มให้บริการด้วยเครื่องบิน Junkers F13

ในช่วงใกล้เกิดสงครามโลก ปี 1930 SCADTA ได้สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในเรื่องความปลอดภัยในการบินไปยังประเทศเยอรมนี (ที่เป็นคู่สงครามกัน) ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาขณะนั้นได้สนับสนุนให้บริษัท Pan American World Airways เข้าไปถือหุ้นใน บริษัท SCADTA และปี 1949 ได้ควบรวมกิจการกับ SACO (Servicio Aéreo Colombiano) ซึ่งเป็นสายการบินในโคลอมเบีย และใช้ชื่อใหม่ว่า Avianca จนถึงปัจจุบัน

Avianca เป็นหนึ่งในกลุ่มสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา ด้วยฝูงบิน 173 ลำและเครือข่ายบริษัทย่อยที่ครอบคลุมทั่วทั้งทวีปอเมริกาใต้ แต่…

ด้วยพิษโควิด-19 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้บริหารระดับสูงของ Avianca Holdings S.A. ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของสายการบินอาเวียงกา (Avianca Airlines) สายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของละตินอเมริกา ในกรุงโบโกตา ของประเทศโคลอมเบีย เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นขอล้มละลายที่ศาลในนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา เมื่อเผชิญปัญหาทางการเงินมาตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเมื่อปีที่แล้ว มีหนี้อยู่มากถึง 7,300 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 230,000 ล้านบาท และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ทางสายการบินจะเดินหน้าให้บริการผู้โดยสารต่อไประหว่างการปรับโครงสร้างหนี้

3. Qantas

Year of foundation: 1920
Passengers transported in 2018: 55.3 million

มีคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่อยู่นอกประเทศออสเตรเลีย ที่รู้ว่า Qantas ย่อมาจาก “Queensland and Northern Territory Aerial Services” สมดังชื่อที่ระบุไว้เป็นเป้าหมายเริ่มต้นของสายการบินคือ การให้บริการในเขตร้อนที่มีประชากรเบาบางในภาคเหนือของออสเตรเลีย

เครื่องบินลำแรกของ Qantas คือ Avro 504 เป็นเครื่องบินยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสามารถบรรทุกได้แค่ 2 ที่นั่ง เป็นนักบินหนึ่งคนและผู้โดยสารอีกหนึ่งคน Qantas เป็นสายการบินแห่งชาติของรัฐบาลออสเตรเลีย ช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้แปลงเป็นบริษัทเอกชนในยุคปี 1990

เครื่องหมายรูป “จิงโจ้” สัญลักษณ์บนแพนหางเครื่องบินและตราบนผลิตภัณฑ์การบริการต่างๆ และเครื่องหมายในชุดลูกเรือ ปรากฏใช้ครั้งแรกในปี 1944 พร้อมกับที่สายการบินได้ขยายตัวในการให้บริการไปทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และภูมิภาคอื่นๆ

วันนี้ Qantas ยังคงเป็นผู้ให้บริการแนวหน้าของประเทศออสเตรเลีย รวมถึงเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็น 1 ใน 10 สายการบินที่ได้รับการจัดอันดับเป็น “สายการบินยอดเยี่ยม” จาก SkyTrak มาต่อเนื่องหลายปี และรู้จักกันดีไปทั่วโลก

4. Aeroflot

Year of foundation: 1923
First flight: July 1923
Passengers transported in 2018: 55.7 million

เที่ยวบินจาก Moscow ไปยัง Nizhny Novgorod ที่บรรทุกคนเพียง 6 คน (ผู้โดยสาร 4 คนและลูกเรือ 2 คน) บนเครื่องบินแบบ Junkers F13 เป็นจุดเริ่มต้นของสายการบินในสหภาพโซเวียต และก่อนจะมาเป็นสายการบินหลักของสหพันธรัฐรัสเซีย

แต่เดิมใช้ชื่อเรียกว่า Dobrolet และถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Aeroflot ในปี 1932 เมื่อรัฐบาลโซเวียตตัดสินใจรวมสายการบินพลเรือนทั้งหมดไว้ภายใต้องค์กรเดียว หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง Aeroflot กลายเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากการเดินทางทางอากาศ มักเป็นวิธีการขนส่งเพียงเพียงทางเดียว ที่จะเชื่อมดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาลของสหภาพโซเวียตได้

ในปี 1956 สายการบินได้เปิดตัวเครื่องบินแบบ Tupolev Tu-104 ถือเป็นเครื่องบินเจ็ทที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ในช่วงสงครามเย็น Aeroflot ได้ทำการบินระยะทางไกลด้วยเครื่องบินแบบ Ilyushin Il-62 ซึ่งบินไกลจากคิวบา (ในอเมริกาใต้) มายัง Murmansk ในทางตอนเหนือของอาร์กติก และ มี Tupolev Tu-144 เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงของสหภาพโซเวียตที่ท้าทายต่อเครื่องบินเหนือเสียง Concorde ของยุโรป

เมื่อสหภาพโซเวียตได้แยกตัวออกมาเป็นหลายๆ รัฐในยุค 90 นั้น Aeroflot เองก็ถูกแบ่งออกเป็นสายการบินระดับภูมิภาคหลายแห่ง ซึ่งบางรัฐที่แยกออกไปก็เริ่มให้บริการและใช้ชื่อของตนเอง แต่แกนหลักของสายการบินนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย และยังคงเป็นของรัฐ Aeroflot ได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน 10 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 ทั้งในแง่ของการบริการและจำนวนฝูงบิน และยังใช้เครื่องหมาย ค้อนและเคียว เป็นโลโก้ Aeroflot ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดดั้งเดิมเมื่อเริ่มก่อตั้ง

5. Czech Airlines (CSA)

Year of foundation: 1923
First flight: October 1923
Passengers transported in 2018: 2.9 million

เริ่มต้นขึ้นในฐานะสายการบินแห่งชาติสำหรับประเทศเกิดใหม่อย่าง Czechoslovakia ในชื่อ Czech Airlines ธุรกิจของสายการบินหยุดชงักไปพักหนึ่งจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาสายการบินก็ได้รับการยกสถานะฟื้นฟูขึ้นใหม่ โดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ภายหลังสงคราม

ในปี 1957 CSA ได้กลายเป็นสายการบินแห่งที่ 3 ต่อจาก BOAC (British Overseas Airways Corporation) และ Aeroflot ที่ทำการบินด้วยเครื่องบินเจ็ทแบบ Tupolev Tu-104A ของโซเวียตที่สร้างขึ้น และยังเป็นสายการบินแรกที่บินด้วยเครื่องบินเจ็ตจากกรุง Prague ไปจนถึง Moscow

ในช่วงสงครามเย็น CSA ยังดำเนินงานได้อย่างน่าทึ่ง มีฝูงบินมากถึง 21 ลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินแบบ Ilyushin Il-62 ได้เปิดเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุมทั้งอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย

โชคร้ายเกิดขึ้นอีกครั้ง (หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง) เมื่อกลายเป็นสายการบินแรกที่ถูกจี้กลางอากาศ (hijack) เมื่อเครื่องบิน 3 ลำถูกสั่งให้เปลี่ยนเส้นทางบินไปยังเยอรมนีตะวันตก โดยผู้แปรพักตร์จากระบอบคอมมิวนิสต์เพื่อไปขอลี้ภัยในปี 1950 และเป็นสายการบินแรกที่ต้องสูญเสียกัปตันในการจี้ชิงเครื่องบินในปี 1970

เช่นเดียวกับหลายๆ สายการบินในประเทศกลุ่มสังคมนิยมที่ถูกควบคุม เปลี่ยนชื่อ และปรับโครงสร้างการบริหารงานมาตลอดช่วงปีทศวรรษที่ 90 ปัจจุบันดำเนินงานโดย กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเช็ก ซึ่งได้ปลดระวางเครื่องบินที่ผลิตโดยรัสเซีย หันมาใช้เครื่องบินของ Boeing และ Airbus แทน เช่น Boeing 737, Airbus A320 เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ในสังกัดของ SkyTeam

6. Finnair

Year of foundation: 1923
First flight: March 1924
Passengers transported in 2018: 13 million

สำหรับผู้ที่เคยไปสนามบินนานาชาติต่างๆ และมองหาเที่ยวบินจาก Finnair คงสงสัยว่า ทำไมรหัสสายการบินของ Finnair คือ “AY” ก็ขอเฉลยว่า มีที่มาจากชื่อเดิมที่ใช้ ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Finnair ในปี 1953 คือ “Aero O/Y”

ในช่วง 12 ปีแรกนั้น ทางสายการบินให้บริการเฉพาะเครื่องบินน้ำ มีแท่นสกีแทนฐานล้อเพื่อบินขึ้น-ลงในน้ำได้ (สนามบินในลำน้ำหรือทะเลสาบ) ซึ่งเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้ว เพราะเราคงทราบกันดีว่า ประเทศฟินแลนด์นั้นมีทะเลสาบ และปากแม่น้ำหลายแห่งครอบคลุมพื้นที่ของประเทศ

ในปี 1983 Finnair กลายเป็นสายการบินยุโรปแห่งแรกที่บินตรงไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเครื่องบินแบบ McDonell Doulas DC-10 และอีก 5 ปีต่อมา Finnair ก็เป็นสายการบินเดียวในยุโรปที่มีเที่ยวบินตรงระหว่างยุโรปและประเทศจีน

ด้วยสิ่งนี้นี่เองที่ให้ Finnair เป็นสายการบินที่ทำให้เปิดประตูยุโรปเชื่อมต่อสู่เอเชียที่สั้นที่สุด และด้วย Helsinki นั้นอยู่บนเส้นทาง Great Circle (เส้นทางสายไหม) ที่ทำให้การสัญจรค้าขาย ระหว่างเอเชียและยุโรปเป็นไปอย่างราบลื่น

7. Delta Airlines

Year of foundation: 1924
Passengers transported in 2018: 192.5 million

Delta Airlines เติบโตขึ้นจากการควบรวมสายการบินขนาดเล็กในอเมริกาใต้ตอนล่าง มาสู่สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยใช้มาตรการทางธุรกิจบางอย่างจนประสบผลสำเร็จ (เป็นเคล็ดลับที่ยังไม่เปิดเผย)

2 ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ Delta Airlines กลายเป็นสายการบินขนาดใหญ่ของโลกคือ การซื้อเส้นทางบินด้านชายฝั่งตะวันออกอเมริกา และเส้นทางบินไปยุโรปของ Pan Am ในช่วงต้นทศวรรษ 90 แล้วนำมาควบรวมกิจการกับอีกสายการบินคือ Northwest Airlines ในปี 2008 กลายเป็น Delta Airlines ในปัจจุบัน

Delta Airlines เป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในแง่ของเส้นทางบินที่ผู้โดยสารสามารถจะกำหนดหรือเลือกใช้บริการได้ครอบคลุมที่สุดทั่วโลกนั่นเอง

8. Air Serbia

Year of foundation: 1927
Passengers transported in 2018: 2.5 million

Air Serbia นั้นสามารถอ้างได้ว่า กำเนิดมาจากหลายสายการบินที่ดำเนินการในฐานะสายการบินของยูโกสลาเวีย (รหัสคือ JU) โดยเริ่มจากสายการบิน Aeroput ในปี 1927 และ Jat Airways ในปี 1948

ในช่วงสงครามเย็น Jat Airways ได้สร้างเครือข่ายเส้นทางที่สำคัญ และซื้อเครื่องบินมาประจำการจากทั้งประเทศตะวันออก (รัสเซีย) และตะวันตก (ยุโรป/อเมริกา) ซึ่งสถานะของยูโกสลาเวียในตอนนั้นเป็นประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝายใด

หลังจากการล่มสลายของประเทศยูโกสลาเวีย Jat Airways ก็กลายเป็นสายการบินที่อยู่ในปกครองของเซอร์เบีย และในปี 2013 สายการบิน Etihad (จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ได้เข้าไปซื้อหุ้น 49% ในบริษัท ซึ่งการดำเนินการเพิ่มทุนจำนวนมากในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนโฉมใหม่ของธุรกิจ และได้ใช้ชื่อใหม่ว่า Air Serbia

9. Iberia

Year of foundation: 1927
First flight: December 1927
Passengers transported in 2018: 20 million

เดิมเป็น บริษัทเอกชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐไอบีเรีย (อยู่ในประเทศสเปน) ไม่นาน หลังจากเปิดตัวบริการขนส่งทางไปรษณีย์ระหว่างมาดริดและบาร์เซโลนา

หลังจากที่ธุรกิจหดหายไปในช่วงต้นยุค 30 ปฏิบัติการฟื้นคืนชีพบริษัท ด้วยความช่วยเหลือของเยอรมันฝ่ายชาตินิยม ระหว่างสงครามกลางเมืองในสเปน หลังสงครามสิ้นสุด Iberia ก็ตกอยู่ในมือของรัฐบาลสเปน และพัฒนาพัฒนาเป็นผู้ให้บริการหลักของรัฐบาล

ในปี 1946 Iberia ก็เป็นสายการบินแรกที่บินระหว่างยุโรปและอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยังคงเป็นศูนย์กลางของธุรกิจขนส่งทางไกลของ Iberia ตลอดมา สายการบินได้ถูกแปรรูปปรับโครงสร้างอีกครั้งในปี 2001 และได้ควบรวมกิจการกับ British Airways ในปี 2010 เพื่อสร้างกลุ่มสายการบินนานาชาติขึ้น

10. British Airways

Year of foundation: 1919 (or 1974)
First flight: August 1919 (or 1974)
Passengers transported in 2018: 44.1 million

สายการบินที่ถือธงของสหราชอาณาจักร (UK) หรือสายการบิน British Airways ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 45 ปีก่อนหลังจากการควบรวมกิจการของ บริษัทการบิน 4 แห่ง ได้แก่ British Overseas Airways Corporation, British European Airways, Cambrian Airways และ Northeast Airlines ซึ่งได้มีวาระเฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีในปี 2019 โดยยึดตามความสำเร็จ 100 ปีของสายการบินก่อนหน้านี้

การเริ่มต้นขึ้น British Airways ในประวัติกล่าวว่าเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1919 เมื่อมีเที่ยวบินระหว่างประเทศครั้งแรกของโลกเกิดขึ้น ระหว่างกรุงลอนดอน ไปยังกรุงปารีส เป็นการเดินทางของผู้โดยสารหนึ่งคนไปกับ Devonshire cream และไก่ป่าอีกหนึ่งตัว นี่เป็นจุดเริ่มต้นไม่ใช่แค่ British Airways แต่เป็นการบินในเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศครั้งแรกด้วย

ที่มา : https://edition.cnn.com/travel/article/worlds-oldest-airlines/index.html

(ณ ขณะนี้ ยังเป็นข้อโต้แย้งกันอยู่ในเรื่องที่มาของ British Airways ว่าปี 1919 หรือ 1974 กันแน่ เพราะผมดูใน Wiki ก็ไม่ปรากฎชื่อ British Airways ในปีดังกล่าว แต่ก็ปรากฏข้อมูลว่ามีที่มาจาก Aircraft Transport and Travel (AT&T) ถ้าเช่นนั้นจริงก็น่าจะนับว่าก่อตั้งในปี 1916 แต่ได้ทำการบินครั้งแรก 25 สิงหาคม 1919 สิ มาก่อน KLM เสียอีก คิดว่าน่าจะเป็นตามข้อมูลนี้มากกว่า ข้อมูลอ้างอิง : แหล่งที่ 1แหล่งที่ 2 และ แหล่งที่ 3)

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)