foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

back2school 2564 01

ครู... เมื่อไหร่จะเปิดเทอม

เสียงร้องถามตามหลังผมมา ผู้ถามคงนึกว่าผมยังทำงานในโรงเรียนอยู่เลยถามอย่างนั้น หรือคิดว่าผมน่าจะรู้เพราะติดตามข่าวการศึกษามาโดยตลอด จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมก็ตอบฟันธงลงไปไม่ได้ในขณะนี้ แม้ว่า... โรงเรียนจะเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการสถานศึกษา มีชาวบ้าน ผู้ปกครองมาร่วมด้วยช่วยดูแลการศึกษาของลูกหลาน แต่นั่นก็เป็นเพียงในนาม ทุกอย่างยังคงต้องทำตามคำสั่งการของเบื้องบนโดยตลอด ทั้งๆ ที่เรื่องบางเรื่องนั้นโรงเรียนน่าจะสามารถวิเคราะห์ แก้ปัญหา ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเองด้วยตนเองได้ก็ตาม ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ต้องแยกโรงเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อดำเนินการที่แตกต่างกัน ไม่ควรเหมารวมให้เหมือนกันทั่วประเทศ

  • โรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียนจำนวนมาก อยู่ในเขตเมืองหรือในที่ที่มีคนเดินทางเข้ามาทำกิจธุระพลุกพล่าน ไม่สามารถที่จะคัดกรองพาหะได้โดยง่าย กลุ่มนี้ก็คงต้องอยู่ในมาตรการเฝ้าระวังเข้มข้น ยังเปิดเทอมให้นักเรียนไปเรียนตามปกติในชั้นเรียนไม่ได้ ยิ่งอยู่ใกล้บริเวณที่เกิดคลัสเตอร์ระบาด หรือมีปริมาณพบผู้ติดเชื้อรายวันทุกวันจะมาก-น้อยก็ไม่ควรเสี่ยงที่จะเปิดโรงเรียนในช่วงนี้
  • โรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนไม่มากต่ำกว่า 250 คน ตั้งอยู่ชนบทห่างไกลเมือง อยู่บนเกาะ อยู่บนภู บนดอย อยู่กลางทุ่งนา อยู่กลางป่า ในหมู่บ้านชุมชนที่ไม่มีใครติดเชื้อ มีการเฝ้าระวังอย่างดี มีปริมาณคนเดินทางเข้าออกหมู่บ้านน้อยๆ หรือแทบจะไม่มีเลย มีการตรวจคัดกรองดูแลการเข้าออกตลอดเวลา โรงเรียนลักษณะอย่างนี้ควรจะเปิดเทอมได้แล้ว

back2school 2564 02

การเรียนกับครูให้ผลดีมากกว่าการเรียนกับโทรทัศน์ (ที่ไม่มีใครดูแลแนะนำ) หรือเรียนออนไลน์ผ่านอุปกรณ์เครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ที่อาจจะไม่มีให้ใช้ด้วยซ้ำในหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทย) การให้นักเรียนเรียนด้วยตนเอง อ่านเอง ทำใบงานที่ครูแจกมาให้ แล้วผู้ปกครองก็ช่วยแนะนำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มีค่าเป็นศูนย์แน่นอน บางทีเราจะโทษผู้ปกครองก็ไม่ได้ด้วยบริบทที่แตกต่างกัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ผู้ปกครองมีเวลาเอาใจใส่ลูกหลานในการเรียน บอก สอน แนะนำได้บ้าง แต่ก็มีที่บอกไปแล้วไม่ได้ผล ประเภทคำตอบถูกต้อง แต่วิธีการคิดผิดจากวิธีการที่ครูสอนตามหลักสูตรสมัยใหม่ เด็กไม่เข้าใจเป็นปมด้อยในใจเด็กไปอีก

จะเปิดเมื่อไหร่ก็ตามแต่ต้องปิดเทอมพร้อมกันในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เพื่อไม่ให้กระทบต่อปฎิทินการสอบต่างๆ ของนักเรียนชั้นสุดท้ายในช่วงชั้น (ป. 6, ม. 3, ม. 6) ในการศึกษาต่อในระดับชั้นถัดไป นั่นแสดงว่า ถ้าเปิดเรียนปกติก็จะต้องเร่งสอนเสริม สอนชดเชยกันขนานใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ครบถ้วนนี่คือปัญหาใหญ่ ดังนั้น โรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก จึงควรจะเปิดเรียนก่อน เพราะมีความพร้อมมากกว่าโดยครูผู้สอนควรได้รับวัคซีนกันทุกคนโดยเร็ว (เพราะส่วนใหญ่ครูไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ประจำ)

back2school 2564 03

ให้กำลังใจเพื่อนครูทุกคนนะครับ แม้จะมีปัญหาอุปสรรคมากมายข้างหน้าเราก็คงจะต้องแก้ไขมันให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทยเราหรอกครับเป็นกันทั้งโลก เพียงแต่... เมื่อผมฟังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้สัมภาษณ์เรื่อง ให้นักเรียนเรียนผ่านออนไลน์ได้ไม่ทั่วถึง แต่เชื่อว่าทุกครอบครัวคงมีโทรทัศน์ทุกบ้านให้นักเรียนได้เรียน แล้วก็ได้แต่อมยิ้มในความคิดนี้นะครับ ถ้ามีโทรทัศน์บ้านละเครื่องแต่มีลูกหลาน 2-3 คนเรียนคนละระดับชั้น ใครควรได้ดูได้เรียนครับ นี่ผมยังไม่ได้คิดถึงการรับสัญญาณด้วยนะว่าจะรับช่องที่ใช้เรียนนั่นได้ไหม รวมทั้งบนดอยที่ไม่มีไฟฟ้าด้วยนะครับ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรหูตากว้างไกล มองไปให้สุดขอบฟ้า อย่ามัวแต่ฟังพวกบ่างช่างยุที่คอยเป่าหูอยู่ข้างๆ

ล่าสุด 14 มิถุนายน

ดูข่าวท่างช่อง ThaiPBS เมื่อตอนบ่ายวันนี้ จังหวัดศรีสะเกษ มีเพียง โรงเรียนบ้านตูม อำเภอศรีรัตนะ โรงเรียนเดียวเท่านั้น ที่นักเรียนยังต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน เพราะในชุมชนยังพบผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 90 คน ในจำนวนนี้ มีนักเรียน 11 คน และครู 1 คน นี่จึงเป็นความท้าทายของ "ครู" ในการจัดการเรียนการสอนท่ามกลางการแพร่ระบาด มาสะดุดใจตอนที่ผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนว่าจัดการอย่างไร? ผู้อำนวยการบอกว่า "ใช้ On hand แจกใบงานอย่างเดียว ใช้วิธีการอื่นไม่ได้เลย เพราะเด็กในพื้นที่บริการครอบครัวยากจน สำรวจแล้วที่บ้านมีทีวีไม่กี่ครอบครัว โทรศัพท์ที่สำรวจมีไม่กี่เครื่องโทรเข้า-ออกได้อย่างเดียว" รัฐมนตรีท่านจะทราบบ้างไหมนี่ว่า ไม่ต้องโรงเรียนชายขอบ บนเขา บนดอย ก็อัตคัตเหลือเกิน

ข่าวต้นฉบับ : https://fb.watch/6772zdeOZW/

ชักง่วง ครั่นเนื้อครั่นตัว เพราะพิษวัคซีนออกอาการจากการฉีดเมื่อเวลา 11 โมงเช้าวันนี้ ขอนอนพักแปร๊บนะครับ ค่อยมาว่ากันต่ออีกที

my vaccine 1

แก้ไขบรรทัดข้างบนนะครับ อาการที่ว่านั่น คือ หิวกาแฟ (ร่างกายขาดคาเฟอีน ตอนเช้าก่อนไปฉีดวัคซีน ได้ลดปริมาณกาแฟลงนิดหน่อย เลยเกิดอาการหาว-ง่วงดังว่า) ไปนอนก็ไม่หลับ สุดท้ายเติมไปแก้วใหญ่ตาใสเลย อาการต่างๆ ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนที่คนอื่นๆ เจอ ผมไม่มีสักอาการนะครับปกติดี ไม่เจ็บไหล่ ไม่บวม ไม่มีไข้ใดๆ ครับ คราวนี้มาว่ากันต่อเรื่อง เปิด-ไม่เปิดเทอมจากโควิด เราจะทำอย่างไรกันดี

ผมขอยกเอาความคิดเห็นของ ดร.ครรชิต มนูญผล มาขยายความต่อนะครับ ท่านให้ข้อคิดว่าในสถานการณ์ฏารระบาดโควิดครั้งนี้ หากโรงเรียนจะเปิดเทอม 14 มิถุนายน แล้วควรดำเนินการ 5 ข้อดังนี้

  • ลดรายวิชา เหลือกลุ่มรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา ทักษะชีวิตและสังคม (เนื่องจากระยะเวลามีจำกัด ลดการสอนตามหนังสือหรือตำราเล่มหนาเตอะ ครูควรสกัดเอาเฉพาะแก่นของเนื้อหา แก่นความรู้ที่สามารถเอาประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน)
  • ลดเวลาเรียน เรียน 3-4 ชั่วโมงต่อวัน เรียนครึ่งวัน เน้นทักษะสำคัญที่ต้องใช้ในยามวิกฤต (เพื่อลดความตึงเครียดของทั้งครูผู้สอน และตัวนักเรียน ให้สามารถเรียนด้วยความสนุก ได้ทักษะชีวิตสำคัญที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาตัวเองและครอบครัว)
  • ลดการบ้าน ทำให้เสร็จที่โรงเรียน เด็กจะได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นที่บ้านเพื่อช่วยเหลือครอบครัว (ข้อนี้สำคัญมาก เพราะประเทศไทยนี่แหละที่มีการบ้านมากมายจริงๆ ครูแต่ละคนต่างก็ถมจำนวนการบ้านให้เด็กทุกวิชา จนต้องใช้เวลามากกว่าการเรียนที่โรงเรียนเสียอีกในการจัดการกับเหล่างานที่ครูโถมใส่ เด็กไม่มีโอกาสช่วยเหลือครอบครัว ไม่มีทักษะการใช้ชีวิต ทำงานบ้านไม่เป็นสักอย่าง)
  • ลดงานครู เหลือแต่สอนอย่างเดียว เตรียมการสอนตรวจงานเด็ก ช่วยเหลือเด็ก งานอื่นๆ หาคนทำแทนหรือลดลง (นอกจากจะยุ่งกับการหาแก่นความรู้มาสกัดให้เด็กได้เรียนรู้แล้ว ยังจะต้องมาพะวงกับการรายงานบ้าบอจากเขตพื้นที่ จากกรมเจ้าสังกัดอีก พวกท่านไม่ได้สอนเด็กอยากรู้อะไรก็สุ่มลงไปดูเอาเอง จะได้เห็นของจริง ตัวเลขจริง ความยากลำบากของครู ช่วยเขาได้ไหมแค่นี้)
  • ลดการประเมิน ลดการประเมินทุกชนิด รวมทั้งผลงานวิชาการ ไม่ต้องเพิ่มเกณฑ์อะไรมากมายวุ่นวาย (ใครอยากประเมินอะไรลงไปสัมผัสเลย ไปดูหน้างานให้เห็นกับตา อย่านั่งเทียนจินตนาการแล้วสั่งการ เห็นความทุ่มเทเสียสละของเขาแล้วก็ให้รางวัลเขา ไม่ต้องมาให้เขาต้องเขียนรายงานหลอกลวงไปวันๆ อีกต่อไป ภาระที่หนักอึ้งนี้มีมากพอแล้วไม่ต้องเพิ่มกฎเกณฑ์อะไรขึ้นมาอีกเลยนะ)

new normal learning 4

จากการดำเนินการ 5 ลด ข้างต้นนั้น "ครู" ในฐานะผู้ที่มีบทบาทต่อการเรียนรู้ของเด็กควรปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ "ครูแห่งศตวรรษที่ 21" นี้ได้ผลดีตามที่คิด รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง ได้เสนอ ทักษะที่จำเป็นสำหรับครูไทยในอนาคต (C-Teacher) ไว้อย่างน่าสนใจ ด้วย วิธีการ 8 C อันประกอบด้วย

Content:

ผู้สอนต้องมีความรู้และทักษะในเรื่องที่สอนเป็นอย่างดี เพราะหากผู้สอนไม่เชี่ยวชาญในเรื่องที่สอนหรือถ่ายทอด ก็ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้บรรลุเป้าหมาย

Computer (ICT) Integration:

ผู้สอนต้องมีทักษะในนการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีจะช่วยกระตุ้นความสนใจให้แก่ผู้เรียน ยิ่งถ้าได้ผ่านการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ จะยิ่งช่วยส่งเสริมทักษะที่ต้องการได้เป็นอย่างดี

Constructionist:

ผู้สอนต้องเข้าใจแนวคิดที่ว่า ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ขึ้นได้เองจากการเชื่อมโยงความรู้เดิมที่มีอยู่เข้ากับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับ และได้จากการลงมือปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ โดยครูสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างความรู้และสร้างสรรค์ชิ้นงานต่างๆ ผ่านการประยุกต์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากในชั้นเรียนและจากการศึกษาด้วยตนเอง

Connectivity:

ผู้สอนต้องสามารถจัดกิจกรรมให้เชื่อมโยงระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและระหว่างผู้สอนในสถานศึกษาเดียวกันหรือต่างสถานศึกษา รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาและสถานศึกษากับชุมชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เป็นประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียน

Collaboration:

ผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในลักษณะการเรียนรู้แบบร่วมมือระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน เพื่อฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสารสนเทศระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนในด้านทักษะอาชีพและทักษะชีวิต

Communication:

ผู้สอนมีทักษะการสื่อสาร ทั้งการบรรยาย การยกตัวอย่าง การเลือกใช้สื่อ การนำเสนอสื่อ รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่ความเข้าใจและสามารถเรียนรู้ได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

Creativity:

ผู้สอนในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องสร้างสรรค์กิจกรรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย แปลกใหม่ จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุด ผู้สอนต้องเป็นมากกว่าผู้ถ่ายทอดความรู้โดยตรงเพียงอย่างเดียว

Caring:

ผู้สอนต้องมีมุทิตาจิตต่อผู้เรียน ต้องแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใยอย่างจริงใจต่อผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อใจส่งผลต่อการจัดสภาพการเรียนรู้ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งเป็นสภาพที่ผู้เรียนจะมีความสุขในการเรียนรู้และจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด

time2change 06

หวังว่า คงจะเป็นแนวทาง แนวคิด ในการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในห้วงวิกฤตนี้นะครับ โดยเฉพาะท่านที่ต้องใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ จะได้หาแนวทางปรับประยุกต์ตนเองให้เป็น C-Teacher เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนได้ผล อย่าเอาวิธีการสอนหน้าชั้นเรียนปกติมาใช้แบบออนไลน์ เพราะมันไม่ได้ผล ไม่สนุก ควบคุมชั้นเรียนไม่ได้ ขอให้ทุกท่านผ่านวิกฤตโควิด-19 นี้ไปอย่างราบรื่นนะครับ

ครูมนตรี
13.51 : 11-06-2564
Edit : 10.25 : 12-06-2564

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy