foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

Covid interupt school 01

ลังจากที่ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องประกาศเลื่อนการเปิดเทอมแรก ปีการศึกษา 2564 ถึงสองครั้งสองครา มีหลายโรงเรียนต้องทำการเรียนการสอนด้วยรูปแบบที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน และเริ่มงงกับการดัดจริตใช้คำของผู้นำในวงการศึกษาประเทศสารขัณฑ์นี้ ตั้งแต่ On site, On hand, Online สารพัน ส่วนครูนั้น อ่อนแอ้แล้ หมดพลังไปเนิ่นนานแล้ว พอเริ่มเปิดภาคเรียนกันได้นิดหน่อยในบางโรงเรียนนอกเขตเมืองใหญ่ ลูกหลานเด็กๆ ได้อวดชุดนักเรียนใหม่ได้ไม่กี่วัน การเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนเกิดการสั่งปิดแคมป์คนงานระยะยาวถึง 30 วัน ทำให้แคมป์แรงงานแตก คนงานกระจัดกระจายกลับบ้าน แล้วสิ่งที่ทุกคนคาดการณ์กันไว้แล้วก็เกิดขึ้นจริงๆ

ไม่ใช่แต่แรงงานกลับบ้านเท่านั้น แต่พวกเขาเอาพยาธิโควิดกลับมาแพร่สู่ครอบครัว ชุมชน ในต่างจังหวัดกันด้วย คราวนี้ประเทศไทยถูกตีแตกอย่างสมบูรณ์ ยอดการค้นพบผู้ติดเชื้อโควิดทั่วประเทศสูงขึ้นแตะหลักหมื่นในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว มีการค้นพบผู้ติดเชื้อเป็นเด็กนักเรียนในโรงเรียน ที่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นญาติพี่น้องที่กลับบ้านมาจากแคมป์คนงาน โรงงานอุตสาหกรรม จนโรงเรียนต่างๆ ต้องสั่งปิดเรียนกันอย่างโกลาหล บางโรงเรียนเพิ่งจะเปิดเรียนเป็นวันแรกได้ไม่ถึงครึ่งวันด้วยซ้ำ ก็ต้องให้ผู้ปกครองต้องมารับลูกหลานกลับบ้านทันทีเพื่อหนีการแพร่ระบาดโควิด

Covid interupt school 02

การระบาดครั้งนี้รวดเร็วกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่เป็นเชื้อที่กลายพันธุ์มา และยังไม่ยอมแสดงอาการให้เห็นง่ายๆ (หลบในเก่ง) และที่สำคัญเมื่อมันแพร่เชื้อก็สามารถลงไปทำลายปอดและระบบหายใจได้รวดเร็วมาก เราจึงเห็นยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละวันสูงมากกว่าการระบาดในครั้งก่อนๆ การสั่งปิดโรงเรียนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แม้จะรู้ว่ามันมีผลเสียมากมายเพียงใดก็ตาม เพราะการติดเชื้อในวัยเด็กนั่นอันตรายและยากต่อการควบคุมจริงๆ อีกทั้งวัคซีนป้องกันสำหรับเด็กๆ ตอนนี้ยังไม่มีเลย อย่าว่าแต่เด็กเลย "ครู" ก็ยังได้รับวัคซีนกันไม่ถึงครึ่งเลย จึงควบคุมการระบาดในสถานศึกษาได้ยากมากจริงๆ

อยากเล่าให้ฟังถึงการระบาดที่อุบลราชธานีบ้านผม เด็กนักเรียนชั้น ป. 6 ได้สัมผัสกับญาติที่เป็นผู้ติดเชื้อเดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ (เป็นลูกจ้างในตลาดที่ถูกปิด) โดยไม่ทราบมาก่อน จนญาติมีอาการป่วยเข้าตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจึงพบว่าติดเชื้อ ทางโรงเรียนนำเด็กไปตรวจหาเชื้อเพราะมีความเสี่ยงสูงผลเป็นบวก ทำให้โรงเรียนต้องสั่งปิด และนำเด็กและครูกลุ่มเสี่ยงไปตรวจหาเชื้อเพิ่มเติม แต่ก่อนหน้านั้น 2-3 วัน เด็กคนนี้ไปเรียนพิเศษในโรงเรียนสอนพิเศษแห่งหนึ่งที่เป็นห้องปิด (มีระบบปรับอากาศ) จึงมีการแพร่เชื้อไปยังเพื่อนที่มาเรียนด้วยกันแต่อยู่โรงเรียนอื่น เกิดเป็นลูกโซ่กระทบไปเป็นวงกว้างต้องปิดโรงเรียนต่างๆ ตามมาอีกหลายโรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนสอนพิเศษทุกแห่งในเขตตัวเมืองอุบลราชธานี และเขตอำเภอวารินชำราบใกล้ๆ กันก็ถูกสั่งปิดไปโดยปริยาย

Covid interupt school 03

เราจะหวังอะไรกับการเรียนออนไลน์ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล พวกเราก็หวังอะไรกันมากไม่ได้อยู่แล้วล่่ะ ได้สัก 30 เปอร์เซนต์ของการเรียนปกติได้ก็นับว่ายอดเยี่ยมแล้ว ด้วยสาเหตุในหลายๆ ประการ เช่น เพื่อนครูเราจำนวนมากเกินครึ่งไม่ได้วางแผนในการสอนแบบออนไลน์ หรือการเรียนรู้ค้นคว้าด้วยตนเองในรายวิชาเหล่านี้มาก่อน วิธีการสอน การออกแบบการเรียนรู้ การให้แบบฝึก การค้นคว้าเพิ่มเติม การวัดผลจึงถูกวางอยู่ในรูปแบบการสอนหน้าชั้นเรียน งานเยอะ การบ้านแยะ นักเรียนทำตามสั่งอยู่ตลอด ไม่ได้พึ่งพาการค้นคว้าเพิ่มเติมให้กว้างขวางขึ้น (นี่กล่าวเฉพาะในกลุ่มที่มีความพร้อมมากๆ ในการเรียนรูปแบบออนไลน์เท่านั้นนะ) ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเรียนในระบบนี้ได้ ตั้งแต่ความไม่พร้อมเรื่องอุปกรณ์การเรียน การสื่อสารต่างๆ หาไม่ได้ ไม่มี และอีกส่วนหนึ่งที่เรียนแบบออนไลน์ไม่ได้เลยเพราะความไม่พร้อมในเรื่องการอ่าน การเขียน จะออนไลน์หรือใบงานก็มืดแปดด้านกันไปหมด

Covid interupt school 04

มีข่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ กำลังจะจัดสรรงบประมาณติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับทุกโรงเรียนทั่วประเทศ เป็นข่าวดี เรื่องดี แต่ถ้าจะให้ดีอย่าทำอย่างเดิม คือ ทำตัวเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP) เสียเอง เพราะมันเคยล้มเหลวไม่เป็นท่ามานานหลายทศวรรษ ตั้งแต่สมัย SchoolNet, MOEnet, UniNet (ตอนหลังได้ชื่อใหม่ว่า อยู่ไหนเน็ต) ตอนแรกๆ ก็ทำท่าจะดีมีความเร็วสูงใช้กันได้ นานๆ ไปกระปริดกระปรอยไหลบ้าง หยุดบ้าง จนเดี๋ยวนี้ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเหล่านี้มีแต่อุปกรณ์แบบโบราณกองพะเนินอยู่ ให้จัดสรรงบรายปีให้โรงเรียนเขาหาบริการเอกชนมาใช้งานเถอะ การบริการ/ความเชี่ยวชาญเขามีมากกว่า มีการอัพเกรดอุปกรณ์และความเร็วต่อเนื่อง โรงเรียนจะได้ประโยชน์มากกว่า มีการแข่งขันการให้บริการดีๆ กับทางลูกค้าได้รวดเร็วกว่า ถ้าราชการทำจะเปลี่ยนอุปกรณ์ทีหนึ่งรองบประมาณเป็นชาติมันก็จะย่ำอยู่ที่เดิมอีก

ในสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ สิ่งที่ควรทำคือ การจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ ในการสอนออนไลน์ให้กับโรงเรียนและครูจะดีกว่าไหม รวมทั้งสนับสนุนค่าใช่จ่ายในการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ให้ทั้งครูและนักเรียนกันเถอะครับ รวมทั้งการจัดหาสนับสนุนเครื่องมือในการเรียนออนไลน์ให้กับผู้เรียนในท้องที่ห่างไกล การสั่งให้แต่ละโรงเรียนสำรวจตั้งแต่คราวระบาดเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาก็ยังเป็นอากาศธาตุอยู่นะขอรับ "

ในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เราได้ฉุกคิดกันแล้วว่า เราจะมาให้นักเรียนมานั่งตาแป๋ว นั่งนิ่งเรียบร้อยฟังครูหน้าชั้นเรียนหน้ากระดานดำต่อไปอีกไม่ได้แล้ว การระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นตัวบีบบังคับให้ครู ผู้บริหารการศึกษาต้องหันมาคิดพิจารณาทบทวนอย่างจริงจังว่า สมควรจะต้องสอนเด็กอย่างไร ให้สอดคล้องกับโลกและสภาพสังคมในปัจจุบันและอนาคต เมื่อยุคดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เราจะใช้เทคโนโลยีนี้กับการเรียนการสอนอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จ รัฐบาลต้องมองการจัดการศึกษาที่เท่าเทียมให้มากกว่านี้ "การเรียนฟรี" นั้นมีจริงหรือ?

Covid interupt school 05

เมื่อคืนจบบทความไปเพราะความง่วง เช้าวันนี้ไลน์เด้งมาทักว่า "พี่ลืมแล้วหรือที่หนูขอสนับสนุนซิมให้เด็กเรียนออนไลน์เมื่อสัปดาห์ก่อน มันยังไม่จบนะพี่" ครับไม่ลืมเลยต้องหยิบมาเล่าให้ฟังต่อ เรื่องเรียนออนไลน์นี่มันเป็นมหากาพย์ของสารขัณฑ์บ้านเราจริงๆ นั่นแหละ เด็กไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับเรียนออนไลน์มากมายจริงๆ ที่มีก็ของผู้ปครองที่ต้องพกออกไปทำงานนอกบ้าน กว่าจะกลับมาก็มืดค่ำเพื่อให้ลูกได้ใช้ติดต่อไปของานกับเพื่อนๆ ที่เรียนตอนกลางวันมาทำ (นี่คือเด็กที่ใส่ใจจริงๆ) แล้วที่ไม่มีอีกล่ะ ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศึกษาพวกท่านฝันหวานมโนมากเกินไปไหม

อย่างน้องสาวที่ทักผมมานี่สอนอยู่ในโรงเรียนขยายโอกาสในตำบลที่ห่างไกล มีเด็กเรียน ม. 1-3 ประมาณ 30 กว่าคนก็ประสบปัญหาเรื่องการเติมเงินค่าเน็ตจนต้องใช้สื่อสังคมออนไลน์ประกาศขอรับการสนับสนุนจากเพื่อนครู และคนที่รู้จักเคารพนับถือกัน ซึ่งผมก็แนะนำไปว่าอย่าใช้วิธีการเติมเงินแบบนี้เลยมันไม่คุ้ม เดี๋ยวก็หมดไม่ทันไรต้องเติมอีกแล้ว แนะนำว่าให้ผู้ที่จะสนับสนุนเด็กๆ รวมเงินกันซื้อซิมเทพ (ซิมรายปี) มาใช้ที่มีเน็ตไม่จำกัดมาใช้งานจะถูกกว่า ซึ่งก็ไม่ระบุว่าเป็นของค่ายไหน ให้ถามเพื่อนๆ ในบริเวณชุมชนนั้นๆ ก่อนว่าสัญญาณค่ายไหนดีที่สุด แล้วค่อยไปซื้อมาให้เด็กๆ จะตกปีละประมาณ 1200-1500 บาทต่อปีแล้วแต่ค่ายใหญ่ดัง (ค่ายใหญ่ ค่ายดังไม่รับประกันว่าสัญญาณจะดีในชุมชนนั้นๆนะ อย่างบ้านผมนี่ ดีแตกเจ๋งที่สุด เจ้าอื่นแบบกระปริดกระปรอยลดหลั่นกันไป) นี่คือเรื่องราวของต่างจังหวัดนะ

เด็กในกรุงเทพฯ เมืองหลวงก็ไม่ต่างกัน ขอยกเอาที่ ดร.วิริยะ (Wiriyah Eduzones) ท่านโพสท์เอาไว้ว่า

อาจารย์อรรถพล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ พูดถึง นักเรียนประถมฯ ในโรงเรียนสังกัด กทม. ที่เรียนออนไลน์ด้วยการเติมซิมทีละ 20 บาท ถ้าเน็ตหมดก็ต้องเดินไปนั่งอาศัยไวไฟฟรีเรียนที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง อาจารย์บอกว่า 'ครอบครัวของเด็กๆ หมุนเงินวันต่อวัน จะเอาเงิน 200 บาท มาจ่ายค่าโทรศัพท์ทีเดียวแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเงินเท่านั้นคือค่ากินค่าอยู่ของทั้งครอบครัวในหนึ่งวัน นักเรียนบางคนเรียนๆ อยู่หลุดออกจาก Line Call ไปเลย ทั้งที่ปกติจะเป็นคนที่กระตือรือร้นมากๆ นักเรียนมาขอโทษที่เข้าเรียนไม่ได้ เพราะเน็ตหมด แม่ไม่มีตังค์เติมให้ ต้องรอไปขายของหาเงินก่อน' 

 

นี่คือ เรื่องของเด็กกรุงเทพมหานครนะครับ ส่วนเด็กในต่างจังหวัดนั้น ปัญหาเยอะกว่านี้มาก เพราะไม่มีหัวลำโพง ใหไปนั่งใช้เน็ตได้ฟรีๆ"

เรื่อง การหาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้เด็กได้ใช้เรียนออนไลน์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ การที่จะต้องให้ครูมาดิ้นรนหารับบริจาคให้นักเรียนมันใช่หน้าที่ไหม ใครควรจะมีบทบาทนี้ ผมถึงได้เขียนในย่อหน้าก่อนว่า การจัดหาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้โรงเรียนเป็นเรื่องดี แต่วันนี้ไปโรงเรียนไม่ได้ เราจัดหาให้เด็กๆ ได้เรียนกันก่อนในช่วงวิกฤตนี้ได้ไหม?

yoo nai net

รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ จะส่งสารไปยัง กสทช. ให้คุยกับผู้บริการเครือข่ายทุกๆ รายที่ได้รับสัมปทานจากรัฐไป ได้จัดโปรโมชั่นพิเศษซิมอินเทอร์เน็ตรายปี หรือซิมเทพนี้ในราคาพิเศษได้ไหม โดยใช้รายได้จากการประมูลเครือข่ายหลายหมื่นล้านบาทนั้น มาสนับสนุนจะได้หรือเปล่า? เพื่อช่วยเหลือทั้งครูและนักเรียนในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์นี้ได้ผลสำเร็จ ให้ครูสอนออนไลน์อยู่บ้านก็ใช่ที่บ้านครูทุกคนจะมีเน็ต ขอเถอะครับ

Covid interupt school 06

เรื่องนี้สำคัญมากทีเดียว ยังไม่หมดครับ ยังมีเรื่องของครูน้อยในหลายๆ โรงเรียนบ่นมาที่ผมอีกว่า "โรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมเข้มข้น ผอ. ก็ยังสั่งให้ครูทุกคนไปประชุมที่โรงเรียน สอนออนไลน์ก็ให้ไปสอนที่โรงเรียน กลัวครูจะไม่รับผิดชอบ ควรทำอย่างไรดีพี่ พวกหนูบอกให้ประชุมออนไลน์ก็ไม่ยอม" น้องเขาก็พยายามจะให้ผมตอบให้ได้ จะเอาคำตอบไปบอก ผอ. ว่างั้น อ้าวๆ ผมไม่ได้มีอำนาจอะไรจะไปสั่งเขาได้นะ แต่เมื่อน้องอยากได้คำตอบผมก็เลยรับปากว่าจะตอบดังๆ แล้วเอาไปให้ ผอ. อ่านกันเองนะ คำตอบของผมคือ

ผอ. มันบ้าอำนาจ และมันโง่ใช้สื่อดิจิทัลไม่เป็น จะมาประชุมออนไลน์อะไรทำไม ก็อยู่บ้าน ผอ. หงอพูดได้แค่คำเดียว ที่เหลือเมียบ่นกรอกหูจนสะท้าน การหาทางออกที่ดีที่สุดคือ 'ใช้อำนาจกับลูกน้อง' สั่งให้ทุกคนไปโรงเรียนเพื่อประชุมกันสัก 10 นาที แยกย้าย ผอ. จะได้ออกจากบ้านชิวๆ จนค่ำค่อยกลับบ้าน เหนื่อยมากกำกับให้ครูสอนกันทั้งวัน "

ผอ. (ผัวอีอ้อย) คนที่ว่านี่คือ คนที่เป็นผู้บังคับบัญชาน้องที่ถามผมเท่านั้นนะ ผู้อำนวยการคนดีอื่นๆ เขาไม่ทำอย่างนี้ดอก ใครจะไม่กลัวโควิดกันเล่าเนาะ การบริหารที่ไม่เชื่อใจใคร เอาแต่ใจตัวเองเป็นที่ตั้งนั้น มันหนักและเหนื่อยนะขอรับ เพราะคนอื่นๆ เขาจะไม่ทำตามคำสั่งการของท่าน เพราะทำแล้วก็ไม่ถูกใจให้ท่านทำไปคนเดียวเถอะ พวกเราขึ้นภูดู... (เสือมั๊ง) กัดกันดีกว่า ยุคสมัยของดิจิทัลมันมาแล้วเราจะยังเป็นคนโบราณให้เขาหยามอยู่ได้อย่างไร จริงไหมเล่าท่านผู้อำนวยการที่รัก..

ครูมนตรี โคตรคันทา
12 กรกฎาคม 2564 : 13.00 น.

ล่าสุด ทางกสทช. ออกมาสนับสนุนการเรียนออนไลน์แล้วตามข่าวนี้

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศเพิ่มมาตรการ สนับสนุนแพ็กเกจอินเตอร์เน็ต สำหรับนักเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษา นักเรียนระดับ ปวช. และการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ในวงเงิน 1,200 ล้านบาท ดังนี้

การใช้งานอินเตอร์เน็ตมือถือให้ใช้งานไม่จำกัดสำหรับแอปพลิเคชันเพื่อการเรียน คือ Microsoft Teams, Google Meet, Zoom, Cisco Meeting, Webex และ Line Chat ส่วนอินเตอร์เน็ตบ้าน ทางกสทช.จะสนับสนุนค่าอินเตอร์เน็ตให้เดือนละ 79 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จำนวน 2 รอบบิล

เบื้องต้น กระทรวงศึกษาธิการจะทำรายชื่อนักเรียนและเครือข่ายที่ใช้เรียน ทั้งอินเตอร์เน็ตมือถือหรืออินเตอร์เน็ตบ้าน เพื่อรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง คาดว่าจะมีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 7 ล้านคนทั่วประเทศ

ntbc

Update : 29 กรกฎาคม 2564

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy